สกนช.ย้ำยังตรึงดีเซลไม่เกิน 33 บาท เว้นน้ำมันโลกทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ อาจขอขยับราคาขายปลีกเพื่อรักษาสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯรอใช้หนี้ 1.05 แสนล้าน
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศสาตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2567(ต.ค.2566-ก.ย.2567) ว่า ยังคงเดินหน้ารักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯขึ้นลงเพื่อให้ราคาขายปลีกสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
ทั้งนี้กรณีดีเซลยังคงตรึงราคา 33 บาทต่อลิตรแบบไม่มีกำหนด จากปัจจุบันมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯอยู่ลิตรละ1.72 บาท แต่ถ้าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจมีทบทวนการขยับราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯได้ เนื่องจากยังมีภาระการชำระหนี้เงินกู้ยืมเงินต้นและดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน ที่วงเงินรวม 105,333 ล้านบาท
ปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ตลาดน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 81.68 บาทต่อบาร์เรล น้อยกว่าปีก่อน 1.8 เหรียญสหรัฐ ส่วนน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 102.01 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้อยกว่าปีก่อน 10.89 เหรียญสหรัฐ และเบนซินอยู่ที่ 95.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้อยกว่าปีก่อน 4.48 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้กองทุนน้ำมันฯยังต้องเข้าไปดูแลราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ยังตรึงราคา 423 บาทต่อถัง(ขนาด15ก.ก.) เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน
“ราคาดีเซลยัง 33 บาทต่อไป ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะถึงเมื่อไหร่ โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯมาดูแล โดยไม่ต้องเข้าครม. เพราะเป็นหน้าที่ที่สกนช.บริหารได้เอง แต่ถ้าราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 เหรียญสหรัฐก็ต้องมาทบทวนโครงสร้างราคากันอีกครั้ง เพราะเรายังมีหนี้ที่ต้องทยอยจ่ายคืนเริ่มเดือนพ.ย. นี้ งวดแรกประมาณ 500 ล้านบาท และทยอยเพิ่มขึ้นทุกเดือนตามวงเงินที่กู้แต่ละงวด มีกำหนดแผนชำระหนี้เสร็จในปี 2571”
นายพรชัย กล่าวว่า ขณะนี้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลเข้าประมาณ 7-9 พันล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ฐานะ ติดลบ 92,041 ล้านบาท แยกเป็นหนี้บัญชีน้ำมัน 44,564 ล้านบาท และ หนี้บัญชี LPG 47,477 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อในปีงบประมาณ 2568 นอกจากการชำระหนี้เงินกู้แล้ว ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวน ซึ่งจะส่งกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ
ขณะเดียวกันต้องจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ.2568-2572 ซึ่งจะมีการทบทวนทุกๆ 5 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน