‘เอสซีจี’ไตรมาส 3 กำไรลด เร่งแก้เกมระยะสั้น ลดต้นทุนทั้งองค์กร ปิดกิจการไม่ทำกำไร วางแผนระยะยาวลุยโครงการอีเทนปิโตรเคมีเวียดนาม ดันปูนคาร์บอนต่ำ-พลาสติกรักษ์โลกมูลค่าเพิ่มสูง
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการ 9 เดือนปี 2567 เอสซีจี มีรายได้ 380,660 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน จากปริมาณการขายของเอสซีจี เคมิคอลส์ และเอสซีจีพี โดย EBITDA (กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย โดยรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) 38,768 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่กำไร 6,854 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายการเดินเครื่องโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลง รวมถึงกำไรไม่รวมรายการพิเศษ ลดลงร้อยละ 46 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับไตรมาส 3 ของปี 2567 มีรายได้ 128,199 ล้านบาท โดย EBITDA 9,879 ล้านบาท กำไร 721 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 81 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า การปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือลดลง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ประกอบกับไตรมาสก่อนเป็นช่วงที่มีรายได้เงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น
ทั้งนี้เอสซีจีคาดว่ารายได้ของปี 2567 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3% จากปีก่อน เพราะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนรุนแรง วัฏจักรปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวลากยาว สงครามตะวันออกกลาง สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทผันผวน นับเป็นความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อยาวนาน เอสซีจีจึงมุ่งดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และรัดกุมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามได้วางเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กรดังนี้1. มุ่งลดต้นทุนภาพรวมองค์กร 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 2. ลดเงินทุนหมุนเวียนลง 10,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 3. ยกเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร เช่น SCG Express และธุรกิจด้านดิจิทัลเทคโนโลยี OITOLABS ในประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจการที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิก
เเละ 4.ขายสินทรัพย์ (Asset Divestment)เพิ่มความคล่องตัวและมุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ประกอบกับยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รักษา EBITDA ให้อยู่gระดับที่สามารถแข่งขันได้ต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนโรงงานปูนซีเมนต์ในไทยร้อยละ 50 ภายในปีนี้ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) ผลิตกระเบื้อง แม่นยำ รวดเร็ว ลดวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีมีการลงทุนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเติบโตร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยในระยะยาว เรื่องกรีน Inclusive Green Growth ยังเป็นโอกาสและความได้เปรียบทางธุรกิจ ดังนั้นจึงเร่งลงทุนโครงการอีเทนที่ LSP ลดต้นทุนวัตถุดิบ ด้วยงบลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก ทั้งยังช่วยลดคาร์บอนไดออกไซต์ในกระบวนการผลิต พร้อมดันนวัตกรรมกรีนมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ เจนเนอเรชัน 2 ได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง มีสัดส่วนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำทดแทนแบบเดิมร้อยละ 86 พลาสติกรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMER TM เติบโตต่อเนื่อง
ด้านเอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) ยังมีความท้าทายจากสถานการณ์วัฏจักรปิโตรเคมีขาลง กำลังการผลิตใหม่ เเละความต้องการเคมีภัณฑ์โลกชะลอตัว ดังนั้นจึงรุกสร้างศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว ด้วยโครงการลงทุนการปรับปรุงกระบวนการผลิต LSP เพื่อสามารถรับก๊าซอีเทนประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะเป็นวัตถุดิบที่ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลก และเพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบในการผลิต ใช้เงินงบลงทุนประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เพื่อสร้างถังรับก๊าซอีเทน และสาธารณูปโภคการรับวัตถุดิบ (Supporting Facilities) คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2570
สำหรับโครงการ LSP เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา และสามารถผลิตได้ 74,000 ตัน โดยเป็นยอดขายในช่วงทดลอง ทั้งนี้ ธุรกิจมุ่งบริหารจัดการการผลิตของโรงงานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) โรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) และโรงงาน LSP ให้เหมาะสมกับราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันสูงสุด ซึ่งขณะนี้โรงงาน LSP ได้หยุดการเดินเครื่อง เพื่อบริหารต้นทุนธุรกิจโดยภาพรวม ทั้งนี้ จะมีการประเมินการกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์เหมาะสม
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ภาพรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างของไทยยังชะลอตัว จากงานโครงการที่ชะลอตัว และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ด้านเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการและผลักดันการใช้พลังงานสะอาดภายในประเทศมากขึ้น ทำให้มีกำลังผลิตรวม 526 เมกะวัตต์ จากโครงการภาครัฐและภาคเอกชน
เมื่อเร็วๆนี้ได้ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย ลงนามการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการ Solar Private PPA (Power Purchase Agreement) สำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับองค์กรและบริษัทต่าง ๆ โดยมีกำลังผลิตรวม 88.5 เมกะวัตต์ อีกทั้งการเชื่อมต่อด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Microgrid) มีแผนขยายผลในกลุ่มโรงงานบริษัทโตโยต้า ในนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี สำหรับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจาก
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ ทุกภาคส่วนต้องรวมพลัง ช่วยเหลือกันและกัน สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา เอสซีจีร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมอบถุงยังชีพ 1,140 ถุง สุขากระดาษ 3,600 ชิ้น เตียงกระดาษ 20 หลัง ห้องน้ำสำเร็จรูป 6 ห้อง ตั้งโรงครัว ทำอาหารให้ชุมชน 8 แห่ง สนับสนุนวัสดุซ่อมแซมโรงเรียน 15 แห่งใน พื้นที่ประสบภัย ส่วนภาคธุรกิจต้องเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้พร้อมรับมือกับกฎเกณฑ์ มาตรการที่เกี่ยวกับโลกร้อน
นอกจากเอสซีจีจะจัดโครงการ Go Together ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการ SMEs ให้ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้จัดหลักสูตร NZAP (NET ZERO Accelerator Program) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้บริหารภาครัฐรุ่นใหม่ ให้เข้าใจนโยบายภาครัฐ กลไกการค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อติดอาวุธ ลดต้นทุน เพิ่มกำไร และเกิดอุตสาหกรรมสีเขียวควบคู่กับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ