อีเทอร์นิตี้ กับแผนเจาะตลาดอีวีระดับลักซูรี่ในไทย เปิดโชว์รูม AVATR ย้ำภาพแบรนด์หรูด้วยกลยุทธ์สร้างประสบการณ์เจาะ ‘นิช-มาร์เก็ต’ เปิดใจสงครามแคมเปญเป็นตลาดของผู้บริโภค
ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเทอนิตี้ แอทวัน จำกัด หนึ่งในผู้จำหน่าย(ดีลเลอร์)อย่างเป็นทางการรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) กลุ่มฉางอัน (CHANGAN) ผู้ผลิตและทำตลาดอีวีระดับโลกของจีน เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแนวทางการทำตลาดอีวีในกลุ่มระดับหรู (Luxury Segement) ในไทยให้สอดคล้องกับแนวทางของฉางอัน กรุ๊ป ที่วางให้ไทยเป็นหนึ่งในตลาดเชิงกลยุทธ์สำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ล่าสุดบริษัทฯ ใช้งบลงทุนรวมไม่ต่ำกว่ากว่า 60 ล้านบาท เปิดโชว์รูมรถยนต์แบรนด์ อวาทาร์ (AVATR) 2 แห่ง ซึ่งถือเป็นการทำตลาดรถอีวีอวาทาร์ นอกประเทศจีน เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยโชว์รูม AVATAR สาขาแรกใช้งบลงทุนราว 30 ล้านบาท ตั้งบนทำเลถนนบางนา-ตราด กม.12 ภายในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ ยู พาร์ค (U Park) บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา และ ใช้งบลงทุนอีก 30 ล้านบาท เปิดโชว์รูมอวาทาร์ แห่งที่2 บนทำเลพนนพระราม6 คาดพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ.ปี 2568
“สาเหตุที่เราลงทุนไม่มาก ด้วยเลือกเปิดโชว์รูมอวาทาร์บนพื้นที่โชว์รูมรถยนต์เดิมทั้งหมด ซึ่งการลงทุนเป็นการปรับโฉมให้กับแบรนด์อวาทาร์มากกว่า รวมถึงยังมีความพร้อมด้านศูนย์บริการ โดยสาขาบางนารองรับการให้บริการได้มากกว่าวันละ 10 คัน และเมื่อเปิดสาขาที่พระราม 6 แล้วจะสามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น” ทรงวิทย์ กล่าว
โดยโชว์รูมอวาทาร์ สาขาบางนา จะมุ่งให้ความสำคัญสูงสุดด้านการให้บริการลูกค้าและมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ประกอบด้วยพื้นที่โชว์รถยนต์ไฟฟ้า AVATR พื้นที่พักผ่อน ห้องรับรองบริการหลังการขาย และโซนส่งมอบรถยนต์ และได้มีการตกแต่งระดับพรีเมียม ให้เหมาะสมกับแบรนด์ที่ทำตลาด
“แบรนด์อวาทาร์ วางตำแหน่งเป็นอีวี เซ็กเมนต์ระดับลักซูรี่ ตามยุทธศาสตร์ของฉางอันได้เลือกไทยในการทำตลาดรถยนต์อีวีเซ็กเมนต์นี้นอกประเทศจีน เป็นครั้งแรก” ทรงวิทย์ กล่าวพร้อมเสริมว่า
โดยแผนการเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการดังกล่าว ทั้ง2 แห่งในเบื้องต้นยังสอดคล้องกับการทำตลาดอวาทาร์ในไทย ด้วยในปัจจุบันมียอดสั่งจอง AVATR 11 เข้ามาแล้วประมาณ 200 คัน และเริ่มส่งมอบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ส่งมอบไปแล้วกว่า 60 คัน คาดจะส่งมอบได้ไม่น้อยกว่า 100 คันในสิ้นเดือนนี้ และจะส่งมอบได้ทั้งหมดก่อนสิื้นปีนี้ โดยปีหน้าคาดว่าอวาทาร์จะมียอดขาย 1,000-1,200 คัน จะเป็นยอดขายของบริษัทฯ 500-600 คัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้หารือกับบริษัทแม่ ถึงแนวทางการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียมในประเทศไทยด้วยเป็นตัวแทนจำหน่ายเอง ซึ่งจะแตกต่างจากแบรนด์ในเครืออย่างดีพอล (Deepal) ที่บริษัทแม่เป็นผู้ดูแลทั้งหมด สอดคล้องกับการทำงานในสำนักงานใหญ่ ที่ได้แยกทีมงานแบรนด์อวาทาร์ออกจากดีพอล ด้วยเช่นกัน
ทรงวิทย์ กล่าวว่า “การทำตลาดอีวี ระดับลักซูรี่ พรีเมี่ยม คงไม่ได้เน้นเรื่องราคาจำหน่ายรถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นไปที่การสร้างการรับรู้แบรนด์ที่มีความแตกต่าง เหมือนกับรถยนต์ญี่ปุ่นหลายยี่ห้อ เช่น เลกซัส อคูร่า หรืออินฟินิตี้ ซึ่งในกลุ่มฉางอัน เราแยกทุกอย่างชัดเจน ตั้งแต่รถเล็กราคาประหยัดอย่าง Lumin ถึง AVATR จะต้องแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งในปีหน้าคาดใช้งบการทำตลาดไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาท”
พร้อมเสริมว่า “ในอนาคต อาจมีความเป็นไปได้ต่อการนำแบรนด์ดีพอลเข้ามาบริหารและทำตลาดที่แยกชัดเจนมากขึ้นด้วยเช่น ซึ่งในปี2568 บริษัทแม่ยังเตรียมใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลก มาใช้ส่งเสริมการทำตลาดแบรนด์ดีพอลเพื่อทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น”
ทรงวิทย์ กล่าวต่อในประเด็นกระแสการลดราคาจำหน่ายของรถอีวีแบรนด์ดีพอล ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องปกติที่ค่ายรถจะต้องทำแคมเปญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว โดยในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศแคมเปญล่าสุด ยังได้มีแคมเปญก่อนหน้านั้นที่มีส่วนลดมากกว่า 1 แสนบาท
“อยากให้มองว่าเป็นตลาดที่ผู้บริโภคได้เปรียบที่สามารถซื้อสินค้าที่มีราคาเหมาะสม” ทรงวิทย์ กล่าวพร้อมเสริมว่า “ไม่มีใครสามารถคาดการณ์เรื่องแคมเปญหรือส่วนลดได้ล่วงหน้า ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกแบรนด์นั้นมีต้นทุนที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละคนจะทำแคมเปญกันได้ถึงระดับใด ซึ่งแบรนด์ดีพอลนั้นขอยืนยันว่าที่ผ่านมามีการทำแคมเปญทางด้านการเงินแบบขั้นบันไดมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นการลดราคาอย่างรุนแรง”
พร้อมเสริมว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาคการเงิน (Finance) ถือเป็นผู้คุมราคาสินค้าทั้่งหมด ซึ่งกำหนดได้ว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ตามสัดส่วนเปอร์เซนต์จากราคาขายสินค้าที่ตั้งไว้
“ทั้งหมดก็อยู่ที่การทำตลาด เช่น รถญี่ปุ่นบางรายจะมีการขึ้นราคารถปีละ 3% พอครบ 5 ปีที่รถรุ่นนั้นใกล้จะออกจากตลาด ก็จะมีราคาส่วนต่างอยู่ 15% แล้วก็มาทำตลาดลดกันมากกว่า 20% อันนี้ไม่เห็นมีใครว่า” ทรงวิทย์ เสริม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอีวีจากประเทศจีน นั้นยอมรับว่าอาจจะมีวิธีการคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะไม่มีการสะสมต้นทุน แต่จะมองว่ามีแนวโน้มที่สามารถผลักดันตลาดได้อย่างไรก็จะทำทันที ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแบรนด์ ต้นทุนและโครงสร้างทางธุรกิจด้วยว่าจะสามารถรักษาการทำแคมเปญได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งฉางอัน มีความแข็งแกร่งรอบด้านในฐานะที่เป็นบริษัทที่รัฐบาลจีนมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่