ยักษ์สีฟ้า ‘IBM’ ลบภาพจำเทคโนโลยีราคาแรง สู่องค์กรดิจิทัลที่สัมผัสได้ด้วย ‘AI’

ยักษ์สีฟ้า ‘IBM’ ลบภาพจำเทคโนโลยีราคาแรง สู่องค์กรดิจิทัลที่สัมผัสได้ด้วย ‘AI’
ไอบีเอ็ม องค์กรยักษ์เทคโนโลยีระดับโลกมีอายุกว่าศตวรรษ และอยู่ในไทยมากกว่า60ปี ที่ในวันนี้ ‘ไอบีเอ็ม’ จะเป็นมากกว่า Big Tech Company แต่มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงง่ายได้ด้วย AI   

THE BETTER ได้ร่วมสัมภาษณ์ผู้บริหาร IBM ประเทศไทย ‘อโณทัย เวทยากร’ กรรมการผู้จัดการบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในโอกาสการจัดงาน ‘IBM Thailand’s Media Roundtable: The Next Frontier of AI Race in Thailand’  พร้อมร่วมอัปเดทข้อมูลเทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ตัวเร่งเศรษฐกิจที่จะพลิกโลกในอนาคตได้เร็วกว่าเทคโนโลยีใด ๆ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

อโณทัย ให้มุมมองต่อการเข้ามาของเอไอ ในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ที่มาจากการขับเคลื่อนธุรกิจองค์กรในแทบทุกขนาดด้วยเอไอ

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ McKinsey ระบุว่าการเรียนรู้ของเอไอ (Gen AI) อาจเพิ่มมูลค่าให้กับกำไรต่อปีของบริษัททั่วโลกได้ถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ การ์ตเนอร์ (Gartner) ระบุว่ามีองค์ราว 10% ที่ก้าวสู่ขั้นตอนการเริ่มใช้งานจริง มากกว่าสามในสี่ของผู้บริหารที่สำรวจมองว่าตนต้องเริ่มใช้ Gen AI อย่างรวดเร็วเพื่อให้ก้าวทันคู่แข่ง  และ 72% ของผู้บริหารระดับสูงมองว่าผู้ที่มี Gen AI ที่ก้าวล้ำที่สุดจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน(IBV)

โดย IBV บอกว่า 75% ขององค์กรกำลังทดลองใช้ Gen AI ในห้าหรือมากกว่าห้าฟังก์ชัน และเกือบครึ่งหนึ่งขององค์กรธุรกิจได้ขยับจากการสำรวจความเป็นไปได้ของการใช้ AI ไปสู่การทดลองนำร่อง ซึ่ง Gen AI ยังช่วยให้ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ของ AI พุ่งขึ้นเป็น 31% จาก 13%

ด้าน Statista คาดว่าในประเทศไทย ขนาดตลาด Gen AI จะเติบโตถึง 179.50 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2024 และจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 46.48 ต่อปี จนมีขนาด 1,773.00 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030

ขณะที่ รายงาน Thailand Digital Technology Foresight 2035 ของ DEPA คาดว่าการใช้งาน AI ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% ภายในปี 2030 จาก 17% ในปี 2019

โดยตลาด AI ของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 114 พันล้านบาทภายในปี 2030 และจะมีกว่า 300 ยูสเคสด้าน AI โดยเฉพาะในภาคการผลิต ประกันภัย ยานยนต์ และสาธารณสุข

ความท้าทาย ‘สร้างประโยชน์แต่ยังไม่เชื่อมั่น’

 

อโณทัย กล่าวว่า “Benefit ของเทคโนโลยีจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเราแค่ทดลองเฉยๆ แต่จะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริงได้เราต้องเร่งมันขึ้นมาจริง ๆ”

ขณะที่ Gartner คาดการณ์ว่าการนำ Gen AI มาใช้อันเป็นผลพวงจากการถูกประโคมพูดถึง (hype-driven adoption) จะตามมาด้วย "วิกฤตต่ำสุดของความผิดหวัง" (trough of disillusionment) ที่องค์กรจะเริ่มถอยห่างจากความซับซ้อนที่ต้องเผชิญในการนำ Gen AI มาใช้ในฟังก์ชันหลักต่างๆ ทางธุรกิจ

ตามรายงานของ Gartner ในปี 2025 โครงการด้าน Gen AI 30% จะถูกปล่อยทิ้ง หลังจากได้เริ่มทำ proof of concept ไปแล้ว และจากรายงาน 2024 AI Governance Report ล่าสุดของไอบีเอ็ม เกือบครึ่งหนึ่งของซีอีโอที่สำรวจระบุว่ามีความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องและอคติของ Gen AI

โดยแม้ว่า จะพิสูจน์แล้วว่าสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรธุรกิจ แต่ยังคงมีความไม่เชื่อมั่นอยู่

สู่ THE NEXT FRONTIER OF AI RACE IN THAILAND

 

อโณทัย กล่าวว่า 4 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรก้าวสู่จุดเริ่มของการแข่งขันด้าน AI ในประเทศไทย ประกอบด้วย

  1. โมเดล AI แบบโอเพนซอร์ส (Open-source AI models) ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่ร่วมขับเคลื่อนต่อยอดโดยคอมมิวนิตี้ของนักดีเวลล็อปเปอร์อย่างต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ด้าน AI ที่เชื่อถือได้สำหรับทุกองค์กร
  2. รากฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Trusted data foundation) โดยองค์กรต้องมุ่งเน้นการสร้างรากฐานข้อมูลที่เปิดกว้างและเชื่อถือได้ ให้สามารถบูรณาการและจัดการข้อมูลได้ราบรื่นในสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์ เพื่อการวิเคราะห์หรือใช้กับ AI มีคุณภาพสูง ตอบโจทย์ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆ
  3. การสเกลด้วย Governance (Scaling with governance) การใช้ AI ที่รับผิดชอบภายใต้ความไว้วางใจในการดำเนินธุรกิจองค์กร
  4. การอินทิเกรท ทั่วทั้งระบบนิเวศน์ (Ecosystem integrations) จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในปี 2025 โดยการใช้งานโมเดล AI โอเพนซอร์สที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ ในองค์กรมากขึ้น และการปรับตัวรับพัฒนาการใหม่ๆ ด้าน AI ได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจัยดังกล่าว ‘ไอบีเอ็ม’ ได้นำเสนอโซลูชั่น โมเดล AI ‘GRANITE 3.0’ ที่เหมาะสมกับธุรกิจองค์กร ด้วยจุดเด่นเล็กกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า 97% รองรับการเปลี่ยนแปลงตามความคิดของธุรกิจหลายองค์กร เริ่มมองถึงโมเดลที่เล็กลง ปรับจูนและเชื่อถือได้ ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานและความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละองค์กรโดยไม่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

สำหรับ โมเดล Granite 3.0 มีจุดเด่น ด้านประสิทธิผลสำหรับภาระงานที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละองค์กร ได้ เทียบเท่ากับแบบจำลองขนาดใหญ่ ด้วยในราคาที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งโมเดล Granite 3.0 มีหลายรุ่น ภายใต้โมเดลสองขนาด คือ โมเดล 8B และ 2B

อโณทัย กล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำตลาด Granite 3.0 ของไอบีเอ็ม นอกจากรองรับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ค้าปลีก สถาบันการเงิน พลังงาน ซึ่งได้มีการนำไปใช้งาน (Use Case) แล้ว อาทิ

  • บริษัท ออร์บิกซ์ คัสโทเดียน (Orbix CUSTODIAN) ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่
  • The Mall Group กลุ่มธุรกิจค้าปลีก
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)
  • ไอบีเอ็มและคอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน ซึ่งเป็นดิสทริบิวเตอร์ของไอบีเอ็ม ได้นำร่องใช้ watsonx กับหลายองค์กรในไทย ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟน.), IRPC, BLCP Power และ Banpu

นอกจากนี้ ยังมีภาคการศึกษา ฯลฯ ที่เตรียมเปิดตัวความสำเร็จจากการนำเอไอมาประยุกต์ใช้ในเร็ว ๆ นี้  

อโณทัย กล่าวว่า จากทิศทางเอไอที่เข้ามา ทำให้ไอบีเอ็ม ยังได้ขยายการให้บริการโซลูชั่นไปยังกลุ่มธุรกิจขนาดกลางย่อม (SME) ด้วยการทำงานร่วมกับดีเวลล็อปเปอร์ในชุมชนโอเพนซอร์ส เพื่อพัฒนาเอไอให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และปกป้องลิขสิทธิ์ทางปัญญา (IP) ไปพร้อมกันด้วย  

“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมีความอ่อนไหวไม่เอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนมากนัก ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวแบบเป็นกลางมองว่า หากอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยจะยิ่งเป็นความเสี่ยงมากกว่า แต่หากทำในสิ่งที่ถูกต้องก็เชื่อว่าสามารถหนีวิกฤตเศรษฐกิจได้”  อโณทัย กล่าว

AI ตัวเร่งสปีดเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ 

 

อโณทัย เสริมว่า "ในอดีตปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับรู้ของคนทั่วไป หรือ ลูกค้าที่มีต่อไอบีเอ็ม จะมองว่า ‘เราแพง’ แต่จากการดำเนินงานมาโดยตลอดของไอบีเอ็มในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มเปลี่ยนไปสู่ภาพขององค์กรเทคโนโลยีระดับโลก ที่เข้าถึงและจับต้องได้ด้วยเอไอ และการทำงานร่วมกับนักพัฒนา (Developer) ด้วยแนวทางโอเพนซอร์ส (Opensource) เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์และบริการของไอบีเอ็มเข้าถึงผู้ใช้งานกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางย่อม หรือ เอสเอ็มอี ได้มากขึ้น"   

จากทิศทางดังกล่าว ยังสะท้อนถึงองค์กรอย่างไอบีเอ็ม ที่นอกจากการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังมีอีกหนึ่งในเป้าหมายของไอบีเอ็ม คือ แผนการลดต้นทุนที่นำไปสู่ผลผลิต (Productive) สำคัญได้จากการลงทุนเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้เอไอ ด้วยสร้างรายได้กลับเข้ามาได้ถึง 2 พันล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 พันล้านบาทในปลายปี 2567 นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการเข้ามาของเอไอ

อโณมัย มองต่อไปในในอนาคตถึงการรับ (Adoption) เอไอ ขององค์กรประเทศไทยในภาพรวมจะเพิ่มขึ้นราว 15-20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5-6% ขณะที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกอด็อปใช้เอไอราว 10% ในปัจจุบัน

พร้อมกล่าวทิ้งทายว่า การเข้ามาของเอไอไม่ได้เป็นแค่กระแส หรือนำไปสู่การเกิดภาวะฟองสบู่เอไอที่อาจแตกกระจายในอนาคต แต่จะเป็นการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงและสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจที่มาเร็วกว่าในอดีต จากมุมมองของไอบีเอ็มที่เป็นองค์กรเทคโนโลยีใหญ่ระดับโลก 

ในอดีตเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกใช้เวลาร่วมร้อยปี จากนั้นเป็นยุคของอินเทอร์เน็ต ใช้เวลาไม่ถึง 50ปี และการเช้ามาของไอเอ จะเร็วยิ่งกว่านี้

TAGS: #ไอบีเอ็ม #IBM #เอไอ #AI