กฟผ.มองเทรนด์พลังงานทางเลือกพร้อมเรียนรู้ช่วงเปลี่ยนผ่านทุกรูปแบบ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำคณะสื่อมวลชนเปิดประสบการณ์อัพเดทเทรนด์พลังงานสะอาดที่มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมถอดบทเรียนแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของไทยให้ยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ซึ่งสอดคล้องกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 -2580 หรือ (PDP2024) กำหนดให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 51%
มณฑลไห่หนาน หรือ เกาะไหหลำ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน อยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศ มีประชากร 8.86 ล้านคน การเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลแห่งนี้ มีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว มีจีดีพี 2023 ขยายตัวอยู่ที่ 9.2 % หรือประมาณ 755 ล้านหยวน มีการคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.2% ในช่วงปี 2026-2035
ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ รัฐบาลจีนมีแผนผลักดันให้มณฑลไห่หนานเป็น ‘เกาะพลังงานสะอาด’ (Clean Energy Island: CEI) ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15% และลดใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่าปัจจุบันการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยังมีข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด การทำให้จ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้นทุนจะค่อนข้างสูง กฟผ. จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจและบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR ( Small Modular Reactor) เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงที่มีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ปริมาณน้อยแต่ให้พลังงานความร้อนมหาศาล
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น
สำหรับโรงไฟฟ้า Linglong One มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ ในมณฑลไห่หนาน ถือเป็นโรงไฟฟ้า SMR บนพื้นดินเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก ซึ่ง กฟผ. มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจและต้องเร่งศึกษา ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี SMR ของประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก เนื่องจาก เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง
โซลาร์เซลล์ 400 เมกะวัตต์บนพื้นที่นาเกลือ
นอกจากนี้มณฑลไห่หนานยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซล) Yinggehai กำลังผลิตสูงถึง 400 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 200 เมกะวัตต์–ชั่วโมง ซึ่งพัฒนาบนพื้นที่นาเกลือที่เลิกใช้ประโยชน์แล้ว และพื้นที่ชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีระบบควบคุมที่สามารถสั่งการให้หุ่นยนต์และโดรนออกไปสำรวจแผงโซลาร์เซลล์ สามารถแจ้งเตือนได้ทันทีเมื่อแผงโซลาร์เซลล์มีความผิดปกติ
นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า โรงไฟฟ้า Yinggehai Solar Power Plant คล้ายกับการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่ติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อน จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่่ดิน สามารถใช้อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้
ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. จำนวน 2,656 เมกะวัตต์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2573 โดยปัจจุบันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เฟส 3 ของ กฟผ. ที่อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการต่อครม. 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ ,โซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนภูมิพล กำลังผลิต 158 เมกะวัตต์ และโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์
จีนพัฒนาสถานีเติมไฮโดรเจนสีเขียวในรถยนต์
ด้านการพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มณฑลไห่หนานได้พัฒนาสถานีไฮโดรเจนไห่โข่ว สำหรับผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) แยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจนสามารถเติมให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้
นายวีระ ตั้งวิชาชาญ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า สถานีเติมไฮโดรเจนไห่โข่วที่ใช้กับรถยนต์ (Haikou Photovoltaic Hydrogen Production and High Pressure Hydrogenation Station) ได้พัฒนาต่อยอดโครงการวิจัยไฮโดรเจนสีเขียว โดยบริษัท Haima Automobile (Haima Motor) และ China Aerospace Science and Technology Corporationเป็นสถานีไฮโดรเจนสีเขียวแห่งแรกของมณฑลไห่หนาน ซึ่งไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญในยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยการเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจนไห่โข่วจะช่วยทำให้เห็นการพัฒนาและความเป็นไปได้ของการใช้พลังงานไฮโดรเจนที่สามารถนำมาใช้ได้จริง
สำหรับประเทศไทย กฟผ. มีโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2559
ปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573 ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม โดยมีเป้าหมายทดสอบภายในปี 2573
Data Center มอนิเตอร์การใช้พลังงานหมุนเวียน
อย่างไรก็ตามทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว ส่งผลให้ข้อมูลด้านพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยวางแผนการพัฒนาพลังงานเพื่อรองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดมณฑลไห่หนานได้จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน” (Hainan Energy Data Center) เพื่อรองรับการเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า Hainan Energy Data Center เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน สำหรับกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาพลังงานรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อาทิ ข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้อมูลสมดุลการผลิตและใช้พลังงานของมณฑลไห่หนาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานที่ใช้ในพื้นที่ต่างๆได้
ในขณะที่ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน อาทิ จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast Center) โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผลพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีทั้งรูปแบบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าระยะสั้น (Day-ahead Forecast) แบบล่วงหน้า 10 วัน เพื่อใช้สำหรับวางแผนการผลิตไฟฟ้าระยะสั้น-กลาง และการพยากรณ์ภายในวัน (Intraday Forecast) ทุก 1 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันเพื่อใช้สำหรับการวางแผนควบคุมระบบไฟฟ้าแบบเรียลไทม์
รวมถึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้กฟผ. มุ่งมั่นเดินหน้าศึกษาพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ แสวงหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย พร้อมออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หวังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ