"ฟิตซ์ เรตติ้ง"คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย BBB+ และคงมุมมองมีเสถียรภาพ คาดปี68 ท่องเที่ยวฟื้นต่อเนื่องดันเศรษฐกิจโต3.1%
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เผย บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings หรือ Fitch คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ณ ระดับมีเสถียรภาพ โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารหนี้สาธารณะดังนี้
-Fitch คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องโตจาก 2.6% ในปี 2567 เพิ่มเป็น 3.1% ในปี 2568 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2568 นักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนเป็นสำคัญ อีกทั้งกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคยังมีความเข้มแข็งในการรับมือกับความท้าทาย อาทิ รายได้ต่อหัว และดัชนีธรรมาภิบาล เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องอาจทำให้มุมมองความเสี่ยงทางการคลังในระยะปานกลางเพิ่มขึ้นได้
-ภาคการคลังยังคงมีเสถียรภาพ แม้รัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายขาดดุล โดยปี 2568 จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ Peers ที่ 3.2% ขณะที่รัฐบาลพยายามปรับลดการขาดดุลงบประมาณเพื่อเข้าสู่สมดุลทางการคลังอันจะมีผลให้ระดับหนี้สาธารณะปรับเข้าสู่ระดับมีเสถียรภาพใกล้เคียงกับค่ากลางของ Peers ในระยะต่อไป
-ส่วนของหนี้ภาครัฐบาล ซึ่งครอบคลุมหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ,รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระ ,หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 61.2% ของ GDP ภายในปี 2569 และจะยังคงอยู่ในระดับดังกล่าวไปจนถึงปี 2571 ซึ่งสะท้อนถึงการปรับลดงบประมาณรายจ่ายแบบค่อยเป็นค่อยไปหลังจากปี 2568
-ภาคการเงินต่างประเทศ แข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2.1% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568 อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงกว่า 7.4 เดือน ขณะที่ค่ากลางของ Peers อยู่ที่ 5.6 เดือน นอกจากนี้ ประเทศไทยจะยังคงรักษาสถานะเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิ ทั้งระดับประเทศ และระดับเศรษฐกิจโดยรวม ปี 2568 ที่ระดับ 36.9% และ 43.0% ของ GDP ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ BBB และ A
ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ Fitch จะติดตามและพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อาทิ ความสามารถในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง การลดลงของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อย่างมีนัยสำคัญ ความผันผวนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และการปรับตัวทางการคลังล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ซึ่ฃรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำชับให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะติดตามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ