คปภ.เดินหน้าใช้นวัตกรรมดิจิทัล ยกระดับธุรกิจประกันภัยให้ทันสมัยยั่งยืน

คปภ.เดินหน้าใช้นวัตกรรมดิจิทัล ยกระดับธุรกิจประกันภัยให้ทันสมัยยั่งยืน
คปภ. จัดสัมมนา “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” เดินหน้าใช้นวัตกรรมดิจิทัล ยกระดับธุรกิจประกันภัยให้ทันสมัยยั่งยืน

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานกล่าวเปิดงานการประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2567 (Thailand Insurance Symposium 2024) ว่า งานสัมมนาครั้งนี้เป็นปีที่ 10 ภายใต้แนวคิด “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการประกันภัย ผลิตภัณฑ์ประกันภัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงต่างๆ จากสภาวการณ์ของธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัย มีบทบาทสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นธุรกิจประกันภัยต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลภาพรวมธุรกิจประกันภัย ณ ไตรมาส 2 ปี 2567 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 4.5 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโต 2.73% โดยธุรกิจประกันชีวิตเติบโต 3.81% และธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโต 0.43%  และในสิ้นปีนี้ คาดการณ์ว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันภัย 9.4 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโต 2.7% ซึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือ การประกันสุขภาพที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าประกันภัยประเภทอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 8%

นายชูฉัตร กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มีสัดส่วนผู้สูงอายุเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีข้อจำกัดการเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้สัญญาประกันภัยสุขภาพแบบมาตรฐานใหม่ (New Health Standard) ต้องการันตีการต่ออายุ
และให้ขยายอายุการรับประกันภัยกับกลุ่มผู้สูงอายุให้มากขึ้นสูงสุดได้ถึง 99 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพในระยะยาว และเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน ภายใต้มาตรฐานการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยสามารถเข้าใจความต้องการและประเมินความเสี่ยงของลูกค้า เพื่อช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ปัจจุบัน เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการยกระดับการประกันชีวิตและสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว หากมีการนำเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่างๆ ก็ทำให้เกิดการตั้งราคาเบี้ยประกันภัยที่มีความเหมาะสม ช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับข้อมูลที่ทันสมัยของแต่ละบุคคลในการนำไปใช้ประเมินความเสี่ยง ตลอดจนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ช่วยให้กระบวนการต่างๆ ภายในบริษัทประกันภัยรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในกระบวนการได้ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละบุคคล การตรวจสอบเอกสารใบรับรองแพทย์หรือแบบฟอร์มสุขภาพเพื่อพิจารณารับประกันภัย และการวิเคราะห์รายละเอียด การรักษาพยาบาล ใบเสร็จ และข้อกำหนดของกรมธรรม์ เพื่อลดระยะเวลาจากหลายวันเหลือเพียงไม่กี่นาที” นายชูฉัตร กล่าว

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า บทบาทของเทคโนโลยีที่มีส่วนในการพัฒนาระบบประกันภัยและสุขภาพที่ยั่งยืน ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและระบบการดำเนินการที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าเพิ่มขึ้น ช่วยให้เราสามารถสร้างการเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัยได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านประกันภัย (Insurance Bureau System หรือ IBS) เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและขยายการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัย การส่งเสริมการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนากฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยและการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขึ้นทะเบียนกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การให้กู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นประกัน และการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย

ในระยะถัดไป การสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี สถิติข้อมูล และงานวิจัยในเชิงลึกและนำไปใช้ต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการยกระดับสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย (Research Development and Innovation Center) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และวิทยาการด้านการประกันภัยในระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัย และทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในธุรกิจประกันภัย เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอด พัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงขับเคลื่อนและพัฒนาให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ทันสมัยที่สุด 

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ได้แก่ งาน Insure Mall สรรพสินค้าออนไลน์รวบรวมผลิตภัณฑ์ประกันภัย ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Insure Mall ครบทุกเรื่องประกันภัย จบทุกความต้องการ” โดย Insure Mall จะเป็นช่องทางที่สำคัญในการให้บริการประชาชนผู้สนใจประกันภัย สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย สามารถเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และธนาคารที่คัดสรรแบบประกันภัยที่มีความเหมาะสมต่อตัวท่านและครอบครัว ในรูปแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา ตลอดจนเป็นแหล่งรวมความรู้พื้นฐานด้านการประกันภัยสำหรับประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะมีกิจกรรมเปิดตัวโครงการซื้อประกันภัย รับส่วนลดสูงสุดถึง 30% และร่วมลุ้นรับขอรางวัลมากมาย สามารถติดตามได้ทาง www.insuremallthailand.com 

ในงานสัมมนาครั้งนี้ ยังมีการอภิปราย เรื่อง "Future Landscape in Digital Insurance” โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นางสาวชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ คปภ. ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยีสำนักงาน, ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และ นายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์, ผู้อำนวยการสายงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

นางสาวชญานิน กล่าวว่า ความท้าทายของธุรกิจประกัน คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทุกปัญหาหรือทุกวิกฤตเป็นโอกาสได้ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ก็เป็นช่องทางให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับบริษัทประกัน และลูกค้า เป็นต้น นอกจากนี้ คปภ. ยังพบว่า ประกันภัยแบบบำนาญมีการขยายตัวขึ้นมาก แม้ว่ามูลค่าภาพรวมยังไม่มาก แสดงให้เห็นว่า ประชาชนสนใจทำประกันวางแผนทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพ และการมีเงินไว้ใช้จ่ายในอนาคต

นอกจากนี้ คปภ. ยังพบว่า ผลิตภันฑ์ประกันแบบฝังตัว ยังมีการขยายตัวที่สูงและเป็นแนวโน้มที่ดีของอนาคต จากการพัฒนาของเทคโนโลยี ทั้งการประกันสุขภาพ ประกันการเดินทางท่องเที่ยว ประกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการประกันแบบฝังตัว จะเป็นอนาคตที่สำคัญของธุรกิจกันภัย

ด้าน นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัย ทั้ง คปภ. บริษัทประกันภัย และ โบรกเกอร์ขายประกัน ต้องร่วมมือกันในการพัฒนาระบบ AI เข้ามาพัฒนาการกำกับดูแล การให้บริการ และการบริหารข้อมูลต่างๆ ให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจการเงินเรื่องระบบเทคโนโลยี เรื่องของการพัฒนา Big Data การใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ

ขณะที่ ดร.จุฑาทอง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ประกันภัยต้องตอบโจทย์เฉพาะตัวมากขึ้น ต้องมีเบี้ยประกันที่ถูกแต่ให้ความคุ้มครองสูง ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของอุตสาหกรรมธุรกิจประกัน โดยเชื่อว่าระบบดิจิทัล AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยวิเคราะห์แก้ปัญหาในส่วนนี้ให้กับธุรกิจประกันได้ โดยความเสี่ยงของธุรกิจประกันในอนาคตของไทยมีการประเมินกันว่าประชากรจะเกิดน้อย จะลดลงครึ่งหนึ่งใน 60 ปีข้างหน้า เทียบกับการเกิดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความท้าทายของธุรกิจประกัน

หลังจากนั้น การสัมมนายังมีการพูดหัวข้อ  "Innovating for Tomorrow: The Future of CX & Digital Workbench in Insurance” โดย Mr. Eugene Macey, Partner, PwC SEA & Global Insurance Customer & Digital Leader กล่าวว่า เทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยให้ธุรกิจประกันภัย ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของฝ่ายกำกับดูแล บริษัทประกัน หรือ บริษัทโบรกเกอร์ ในการเสนอผลิตภัณฑ์ รวมถึงลูกค้าเอง ก็สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ประกันที่เหมาะสมกับตัวเองจากการช่วยประมวลผลของ เทคโนโลยี AI อย่างไรก็ตาม การนำระบบเทคโนโลยีต้องพิจารณาให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ หากพิจารณาผิดพลาดก็จะเสียเวลาและได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า

สำหรับงานสัมมนา คปภ. ครั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนา ยังมีพิธีมอบมอบรางวัลผลงานวิชาการ : ดีเด่น ดี ชมเชย ของนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 12 อีกด้วย

 

TAGS: #คปภ.