เปิดฐานะกองทุนน้ำมันฯปี65 ติดลบสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท หลังควักเงินพยุงราคาดีเซล-ก๊าซหุงต้ม ปี’66 เร่งกู้เงินล้างหนี้ วางแผน 7 ปีปลดล็อค
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เปิดเผยฐานะกองทุนน้ำมันฯสุทธิ ในปี 2565 ติดลบสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท ผลจากรัฐบาลนำเงินไปใช้ในการพยุงราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่สูงขึ้นตามตลาดโลก หวังบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงราคาพลังงานมาทุกรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ครั้งล่าสุดที่เคยเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ในปี 2547-2548 ติดลบ 9.2 แสนล้านบาท ในยุครัฐบาลทักษิณ
ส่วนปี 2565 ไทยเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตพลังงานโลก ทำให้ต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยพยุงราคาพลังงานในประเทศทั้งดีเซล และก๊าซ LPG อย่างต่อเนื่อง
วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ภาพรวมจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565
จนเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกินระยะเวลานานถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชน
รวมทั้งกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 135.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 74.26%
กองทุนน้ำมันฯจำเป็นต้องเข้าไปตรึงราคาLPG โดยเลือกปรับแบบขั้นบันได จากที่ตรึงไว้ 318 บาท/ถัง 15 กก.มาอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. และการบริหารราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม จากที่ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตรในปัจจุบัน
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีสถานะติดลบมากกว่า 130,000 ล้านบาท ถือเป็นสถิติที่ติดลบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ขาดสภาพคล่องและมีหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงค้างชำระผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามได้ประสานกระทรวงการคลังจัดหาแนวทางการกู้ยืมเงิน และคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้ว
แผนการกู้เงินของกองทุนน้ำมัฯเพื่อปลดหนี้ก้อนใหญ่ครั้งนี้ ครม. มีมติอนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน วงเงิน1.5 แสนล้านบาท
ขั้นตอนการกู้เงินและช้ำระหนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน
- ส่วนที่ 1 (กู้ยืม ครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่ ธ.ค 2565 – ก.พ. 2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่ ส.ค. 2566 และชำระหนี้ครบภายใน ก.พ. 2568
- ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่ ก.พ. – ก.ค. 2566 ชำระหนี้ได้ตั้งแต่ ก.พ. 2568 และชำระหนี้ครบภายใน ต.ค. 2572 คาดชำระหนี้ได้ภายใน 7 ปี
ล่าสุดได้กู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาทกับธนาคารกรุงไทยและธนาคาออมสิน และส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลง ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 1 มกราคม 2566 ติดลบอยู่ที่ 121,491 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตลาดโลกยังคงผันผวนด้วยภาวะสงครามและการถดถอยของเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญกองทุนน้ำมันยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และต้องบริหารไม่ให้เกิดหนี้สะสมขึ้นมาอีก
ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคต ในช่วงที่จะมีการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ พรรคการเมืองอาจนำเรื่องการดูแลราคาพลังงานมาเป็นนโยบายเรียกคะแนนนิยม โดยการตรึงราคาทุกรูปแบบ ท้ายสุดกองทุนน้ำมันฯจะเกิดปัญหาหนี้ไม่รู้จักจบสิ้นอีก