‘พาณิชย์’คาดทั้งปีขยายตัว 4% เกินเป้า หวังมูลค่าทะลุ 3 แสนล้านบาท ผลจากการฟื้นตัวของคู่ค้าภาคอุตสาหกรรม ดันออเดอร์กลุ่มเกษตร อาหาร และสินค้าไฮเทคเติบโต
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม และ 10 เดือนแรกของปี 2567 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (896,735 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 14.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 10.7 ทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือน
ทั้งนี้มีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.9 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.8 โดย มีมูลค่า 250,398.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 257,149.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.6 ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,751.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.8 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 10.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 32.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.4 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า เป็นต้น
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 3.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 30.6 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 12.8 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 46.2 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.6
ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 18.7 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 77.5 ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 27.2 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 43.0 เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 18.7 เป็นต้น
สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 34.7 โดย10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2
“การส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง หรือเฉลี่ยเดือนละ 23,040 ล้านเหรียญสหรัฐโดยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะโต 4% มีมูลค่า 2.96-3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ”
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป