การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ

การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ
รัฐกำกับดูแล Gas Value Chain ผ่านกลไกของ 4 หน่วยงานหลัก และ 3 คณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อผลักดันโครงสร้างธุรกิจก๊าซธรรมชาติให้เกิดความมั่นคงและเป็นธรรม

การกำกับดูแลธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศ มีความสำคัญทุกขั้นตอน จำเป็นต้องมีการกำกับโดยภาครัฐ ในทุกกระบวนการ ตลอด Gas Value Chain โดยมี 4 คณะกรรมการ และ 3 หน่วยงานหลักที่เข้ามาดูแล ตั้งแต่การจัดหาจนถึงการจำหน่ายไปยังลูกค้าผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ



ทั้งนี้ประกอบไปด้วย 

1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ 

- เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี 

- กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ

- ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ

- ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ

กล่าวคือ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศระยะยาว

2. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่

- เสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนา และมาตรการทางด้านพลังงาน

- เสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนงานและโครงการทางด้านพลังงานของหน่วยงาน รวมทั้งเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการดังกล่าวด้วย

- เสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านราคาพลังงาน และกำกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ

- พิจารณาและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และมาตรการอื่น ๆ ที่จะออกตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

- ขอให้กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใด ๆ เสนอรายละเอียดทางวิชาการ การเงิน สถิติ และเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศได้

- ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมอบหมาย

- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยปฏิบัติงานในหน้าที่ตามความจำเป็น

3. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีอำนาจหน้าที่  

ศึกษาและวิเคราะห์นโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ เพื่อเสนอต่อ  กพช.

รวมทั้งติดตาม ประเมินผล เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการปฏิบัติงานตามนโยบาย แผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศ ตลอดจนเก็บรวบรวมข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ด้านพลังงาน วิเคราะห์ แนวโน้ม และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และเผยแพร่สถิติที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน

ทั้งนี้ มีอำนาจหน้าที่ วางกรอบนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศเสนอต่อกพช. และติดตามการดำเนินงานตามที่ได้รับอนุมัติ



4. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) มีอำนาจหน้าที่ บริหารจัดการการให้สัญญาหรือสัมปทานปิโตรเลียม การสำรวจ การผลิต การเก็บรักษา การขนส่ง การขาย และการจำหน่ายปิโตรเลียม รวมถึงการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม
ตลอดจนการกำหนดแนวทางการจัดหา การพัฒนา และการจัดการแหล่งปิโตรเลียม  การวิเคราะห์ วิจัย และประเมินศักยภาพและปริมาณสำรอง และพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังศึกษาและเสนอแนะแนวทางการนำเข้าและการซื้อขายก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว (Liquefied Natural Gas) การพิจารณาสิทธิ ประสาน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อผูกพันต่อรัฐ รวมทั้งจัดเก็บค่าภาคหลวงและผลประโยชน์อื่นใดจากปิโตรเลียม 

การประสานความร่วมมือในการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วม พื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น  รวมถึงกำหนดแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

5. คณะกรรมการปิโตรเลียม มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่

- ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการให้สัมปทานปิโตรเลียม ต่อระยะเวลาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานรับบริษัทอื่นเข้าร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียม อนุญาตให้โอนสัมปทาน เพิกถอนสัมปทาน 

- ให้ความเห็นชอบแก่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการขยายอายุสัมปทาน อนุมัติการกำหนดพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม อนุญาตให้ขยายระยะเวลาเริ่มผลิต ให้ความเห็นชอบแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม 

- ทำความตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักร โดยเป็นการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ เพื่อใช้ภายในราชอาณาจักรให้ผู้รับสัมปทานขายในราคาที่ตกลงกับคณะกรรมการปิโตรเลียมโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ซึ่งราคาที่ตกลงต้องไม่สูงกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร

- อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้เท่าที่จำเป็น และการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการปิโตรเลียม

กล่าวคือ มีอำนาจหน้าที่ดูแลการให้สัมปทานปิโตรเลียม และพิจารณาราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ

6. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจหน้าที่ กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ  ออกประกาศกำหนดประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน และเสนอความเห็นต่อแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้า แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงานเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงาน ของผู้รับใบอนุญาตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส

การออกระเบียบหรือประกาศ และกำกับดูแลมาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการ รวมทั้งมาตรการในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานจากการประกอบกิจการพลังงาน โดยมีอำนาจหน้าที่กำกับการดำเนินงานและกำกับเชิงพาณิชย์ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ

7. กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล และพัฒนามาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของธุรกิจพลังงาน 

จะเห็นได้ว่ามีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลธุรกิจก๊าซธรรชาติ ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนและกำหนดนโยบายจนถึงการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชานได้ว่า เราจะได้ก๊าซธรรมชาติที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย รวมถึงมีความมั่นคงทางพลังงานและราคาที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนสร้างการจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

TAGS: #PTT #ปตท