ทีดีอาร์ไอ หนุนขึ้นภาษีแวต ค้านลดภาษีนิติ และ บุคคลฯ

ทีดีอาร์ไอ หนุนขึ้นภาษีแวต ค้านลดภาษีนิติ และ บุคคลฯ
นักวิชาทีดีอาร์ไอ หนุนขึ้นภาษีแวต แก้วิกฤตการคลังประเทศ แต่ค้านลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และ บุคคลธรรมดา เพราะจะซ้ำเติมวิกฤตการคลัง

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า เห็นด้วยแนวคิดกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่จะปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 7% ให้เพิ่มสูงขึ้น เพราะถือเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เก็บอยู่ในอัตราที่สูงกว่านี้มา

“การขึ้นภาษีแวต ควรทำและขึ้นในอัตราที่มาก เพื่อแก้ปัญหาการคลังไม่ให้เกิดเกิดวิกฤต ที่ตอนนี้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 65% ของจีดีพี ประเทศต้องใช้เงินมาก ทั้งมาตรการแจกเงิน การดูแลภัยพิบัติ การลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศชนเพดาน 70% ในไม่ช้า หากรัฐบาลไม่เก็บภาษีแวตเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ” ดร.นณริฏ กล่าวว่า

อย่างไรก็ตาม ดร.นณริฏ ยอมรับว่า การขึ้นภาษีแวตมีด้านดีแต่ก็มีผลด้านที่ส่งผลกระทบต่อคนมีรายได้น้อย ที่มีภาระการเสียภาษีแวตมากกว่าคนรวย ดังนั้นเมื่อรัฐบาลขึ้นภาษีแวต พร้อมกันนั้นก็ต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบ เช่น ให้เงินสวัสดิการคนรายได้น้อยกลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น หรือ การเว้นหรือเก็บภาษีแวตในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ สำหรับสินค้าที่มีความจำเป็นสำหรับการครองชีพ

ดร.นณริฏ กล่าวว่า นายพิชัย ยังพูดถึงภาพรวมการปรับโครงการสร้างภาษีทั้งระบบ ซึ่งในส่วนของการลดภาษีบุคคลธรรมดาจากสูงสุด 35% ให้เหลือ 15% ในฐานะนักวิชการไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันเมืองไทยมีแรงงาน 40 ล้านคน อยู่ในระบบภาษี 10 ล้านคน และเสียภาษีจริงประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งน้อยมากอยู่แล้ว การลดภาษีบุคคลธรรมดาจะส่งผลกระทบกับการเก็บรายได้ของประเทศ 

รวมถึงแนวคิดการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15% ก็ไม่เห็นด้วย เพราะการลดภาษีนิติที่เร็วเกินรไปไม่มีอะไรยืนยันว่าจะทำให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่ม หรือจะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่ม ทำให้การลดไปเอื้อเอกชนให้มีกำไรที่สูงควรเป็น

“รายได้หลักของประเทศ คือ การเก็บภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และภาษีแวต หากไปลดภาษีบุคคลฯ และภาษีนิติฯ จะส่งผลกระทบกับการคลังของประเทศอย่างรุนแรงได้ในอนาคต เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย และการเก็บภาษีหลายตัวก็ยังไม่มีประสิทธิภาพจริง เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเร่งลดภาษีมากเกินไปจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี” ดร.นณริฏ กล่าว

TAGS: #ทีดีอาร์ไอ