ค่าเงินบาท “แข็งค่าขึ้นมาก” ทดสอบแนวต้าน 34 บาทต่อดอลลาร์ 

ค่าเงินบาท “แข็งค่าขึ้นมาก” ทดสอบแนวต้าน 34 บาทต่อดอลลาร์ 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” ทดสอบแนวต้าน 34 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.09 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันพุธที่ผ่านมา ที่ระดับ  34.34 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันพุธที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down หลุดโซนแนวรับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ (กรอบการเคลื่อนไหว 34.07-34.28 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธ จนถึงคืนวันพฤหัสบดี ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP, ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) หลังความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศสดูมีแนวโน้มคลี่คลายลงบ้าง (ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสยังมีความไม่แน่นอนอยู่ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ หลัง Michel Barnier ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่ง)

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอด้วยโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบยังคงทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน ในช่วงระหว่างวัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย

โดยธนาคารกรุงไทยประเมินว่า หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาต่ำกว่าคาด เช่น เพิ่มขึ้นน้อยกว่า +2 แสนตำแหน่ง ชัดเจน อีกทั้ง อัตราการว่างงานก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.2% หรือเกือบ 4.3% ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้บ้าง (จาก 70% อาจเกือบแตะ 80%) กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและเงินบาท โดยเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้

ในทางกลับกัน หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน เช่น +2.5 แสนตำแหน่ง หรือมากกว่านั้น อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสรีบาวด์สูงขึ้น กดดันราคาทองคำและเงินบาท

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) สามารถแกว่งตัวเกือบ +0.6%/-0.4% ได้ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว  

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

TAGS: #ค่าเงินบาท