เจ้าสัว-บุญชัย เบญจรงคกุล ในวัย70 ปี ยังคงความคิดเฉียบคมในแวดวงเทคโนโลยีเสมอ กับมุมมองที่มีต่อ 'เอไอ' เสมือน 'ผ้าขาว' ในอนาคตอยากจะให้เขาเป็นแบบไหน 'มนุษย์' สามารถสร้างได้ด้วยมือตัวเองตั้งแต่วันนี้
คุณบุญชัย เบญจรงคกุล หรือ ‘พี่ใหญ่’ หนึ่งในมหาเศรษฐีและนักสะสมผลงานศิลปะชิ้นเอกชาวไทย ผู้บุกเบิกกิจการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายของเมืองไทยในยุคแรกๆ ด้วยเป็นผู้ก่อตั้ง และประธานแทค (ดีแทค) ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของประเทศไทย ก่อนที่ธุรกิจได้เปลี่ยนมือพร้อมควบรวมกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ทรู’ ในปัจจุบัน
‘เจ้าสัวบุญชัย’ ในวันนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเบญจจินดา หรือ BCG (Benchachinda Group) ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และดิจิทัลเทคโนโลยีของประเทศไทยในระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมสวมหมวกประธาน กรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ที่ดำเนินการมานานร่วม 25 ปีในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในโอกาสที่มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมพันธมิตรรัฐ-เอกชน จัดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด ‘เกษตรพื้นถิ่นสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเกษตรไทย’ พร้อมประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดดีเด่น ตามเป้าหมายอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด มุ่งมั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นต้นแบบของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
โดย THE BETTER ได้สัมภาษณ์พิเศษ ‘เจ้าสัวบุญชัย’ ในช่วงเวลาสั้นๆ พร้อมได้ แนวคิดการทำงาน และยังสะท้อนโลกเทคโนโลยีในอนาคต จากมุมมองของ ‘คุณบุญชัย’ในวัยงามได้อย่างน่าสนใจ
ชีวิตใน ‘ไร่เบญจรงคกุล’
หลายคนอาจทราบกันบ้างแล้วว่า ปัจจุบัน คุณบุญชัย และครอบครัว (คุณตั๊ก-บงกช/ภรรยา) และลูกชาย (น้องข้าวหอม) ยังได้ใช้ชีวิตอีกมุมหนึ่ง ณ ไร่เบญจรงคกุล บนพื้นที่ขนาด 800 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ด้วยสมาชิกครอบครัวล้วนต่างเป็นทั้งแรงกายและแรงใจสำคัญที่เข้ามาดูแลอาณาจักรสีเขียว แห่งนี้
คุณบุญชัย บอกว่า ไร่เบญจรงคกุล แห่งนี้ ยังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในช่วงผ่อนคลายทั้งกายและใจไปแล้วในปัจจุบัน จากความตั้งใจพัฒนางานเกษตรกรรมในไร่ฯ ด้วยการปลูกทั้งพืชพันธุ์ไม้เบญจพรรณ อย่างไม้เนื้อแข็งต่างๆ ทั้ง ไม้สัก ไม้มะฮ่อกกานี ไม้พยุง ไม้พะยอม
“การปลูกพันธุ์ไม้เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจในการใช้ชีวิตตามแนวทางเกษตกรที่สามารถสร้างรายได้ให้งอกเงยขึ้นได้ในอนาคต” คุณบุญชัย กล่าว
พร้อมขยายความอีกว่า หากมองเป็นอาชีพเกษตรกรชาวสวนชาวไร่ไทย ก็ยังมีโอกาสจากการทำตลาดของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางหลายแห่ง ทั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ซาอุดิอาระเบีย จากในช่วงที่ผ่านมาได้ประกาศความต้องการพันธุ์ไม้ล้อมจำนวนมากถึงห้าหมื่นต้นเพื่อนำไปปลูกป่า ที่มาจากกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
‘โกโก้’ ไม้ผล ‘ฮีลใจ’ คนทั่วโลก
คุณบุญชัย บอกอีกว่าในไร่เบญจรงคกุล แห่งนี้ยังได้ปลูกพืชเศรษฐกิจโลกสำคัญ อย่าง ‘โกโก้’ ด้วย พร้อมเล่าต่อถึงความสนใจต่อการปลูกเจ้าพืชประเภทผลไม้ชนิดนี้ ว่า เป็นพืชเศรษฐกิจโลกที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ‘กาแฟ’ ในตอนนี้
“ไม้ที่ปลูกในตอนนี้อีกห้าปีมันก็สามารถออกไปตลาดได้แล้วพร้อมๆ กับเพื่อนเกษตรกรร่วมประเทศที่ปลูกไว้เช่นกัน ส่วนโกโก้ หรือ ช็อคโกแล็ต ที่ปลูกแซมไว้ก็มองว่าเป็นอะไรที่เป็นความสุขของคนทั่วโลก จากความหมายที่แฝงอยู่ อย่างคนจะจีบกันก็ซื้อช็อคโกแลตให้ คนจะมีทั้งความสุข หรือ มีความทุกข์ก็ต่างกินช็อคโกแลต อย่างช่วงก่อนผมพาพรรคพวกไปห้างแฮร์รอดส์ ลอนดอน ในอังกฤษ ไปดูช็อคโกแลต พบว่ามีขายมากกว่า 80 ร้านเลยทีเดียว ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มากๆพอกับกาแฟ แต่ในไร่เบญจรงคกุลเราทำโกโก ดาร์ค บาร์ เป็นช็อคโกแล็ตดำแท่ง เราขายอันนั้น”
เริ่มต้นทุกวันด้วยการ ‘ให้’ ก่อน
ขณะที่ชีวิตในวัยงาม ในฐานะประธานบอร์ด 2 แห่งทั้ง BCG และ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ของ ‘คุณบุญชัย’ บอกว่า จะเริ่มต้นด้วยการตื่นแต่เช้าในแต่ละวันโดย ‘ทำบุญใส่บาตร’ ก่อนจะต่อด้วยเริ่มทำสิ่งต่างๆไปพร้อมกันด้วย
“ในแต่ละวัน ถ้าเริ่มต้นด้วยการให้ก่อนจะทำให้วันนั้นเราไม่ต้องไปเครียดว่าจะได้รับอะไรเลย เพราะเราให้แต่เช้าแล้ว สิ่งที่ทำต่อไป คือ การมีส่วนร่วมทำนุบำรุงพระรัตนตรัยของประเทศเรา” พร้อมเสริมว่า
“ไทยเป็นประเทศมหัศจรรย์มากนะ เพียงแต่ว่าเรายังไม่ตระหนักว่าเราอยู่ในสวรรค์บนดิน พระพุทธศาสนาในตอนนี้เบ่งบานที่สุดอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งผู้คนที่มาศึกษาพระธรรม ช่าวต่างชาติที่มาบวชพระ ปฏิบัติธรรมในประเทศไทย ด้วย พระพุทธศาสนา เป็นตรรกะทางวิทยาศาตร์ อธิบายได้ทุกอย่างของการเวียนว่ายตายเกิดในอนันตจักรวาล ทำให้เข้าใจชีวิตประจำวันได้ ว่าช่วงนี้ของชีวิตเราจะทำอะไร มีเป้าหมายของชีวิตในวันพรุ่งนี้ทำอะไร” คุณบุญชัย อธิบายด้วยความลุ่มลึก
สร้างอาชีพเกษตรกรไทยรวยไปด้วยกัน
คุณบุญชัย เล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ต้องย้อนไปเมื่อเกือบสามสิยปีก่อน มาจาก ไอเดียอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเศรษฐกิจชาวนาไทยให้มีรายได้เพิ่ม
“ตอนนั้น เราอยากเข้าไปในระบบชาวนาแต่เขาไม่ให้เข้าไปนะ เพราะเขาบอกว่าคุณไม่ใช่ชาวนาเข้าไม่ได้ ผมไปปลูกข้าวเลยรอจนครบหนึ่งปี ไปเป็นเกษตรกรแล้วเลยได้โอกาสเข้าไปนั่งฟังการทำงานชีวิตของชาวนาไทยจริงๆในที่ประชุมตอนนั้น แล้วมองว่าชีวิตเกษตรกรไทยจะต้องดีกว่านี้ ด้วยการส่งอาวุธลับในการมีส่วนร่วมพัฒนาทั้งระบบให้กับเกษตร ไม่ใช่เข้าไปเปลี่ยนสังคมของพวกเขา”
จากไอเดียนี้ ที่จุดประกายการก่อตั้งโครงการสำนึกรักบ้านเกิด พร้อมพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ ซึ่งได้ทำมาแล้ว 12 รุ่นตลอด 20 ปีก่อนหน้า และในช่วงจังหวะที่ คุณบุญชัย อายุครบ 60 ปีได้ขอตัวพักไปก่อน ด้วยเจ้าตัวบอกว่า "เข้าแคมป์เกษตรกรไม่ไหวแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ‘คุณบุญชัย’ ยังไม่ยอมทิ้งแนวคิดการมีส่วนร่วมสนับสนุนเกษตรกรไทยให้เติบโตไปต่อ โดยปรับวิธีการใหม่ ด้วยการค้นหาปราชญ์ทางเกษตรกรรม ของไทยที่มีอยู่อีกจำนวนมากที่มีการทำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่9)
“เอาโครงการของปราชญ์เกษตรเหล่านี้มาเชื่อมต่อในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด พร้อมมอบรางวัลเพื่อมาเป็นต้นแบบให้เก๋ตรกรไทยรุ่นใหม่ เราเองก็เพียงแต่บอกว่า ให้พ่อรับสายโทรศัพท์หน่อย ถ้ามีผู้สนใจติดต่อมา มีการจัดกรุ๊ปทัวร์มาดูศึกษาเพราะเราะจะทำเหมือนห้องเรียนทางการเกษตรให้ไปอยู่ในแต่ละที่ไร่นาแปลงเกษตรของปราชญ์เหล่านี้”
‘รวย’ คนเดียวไม่ได้ต้องไปด้วยกัน
จากจุดเริ่มต้นที่ต่อเนื่องในครั้งนั้น กระทั่งถึงในปีที่ 13 ของโครงการฯ คุณบุญชัย คิดว่าน่าจะสิ้นสุดแล้ว แต่กลับพบว่ายังไปได้ต่ออีกเรื่อยๆ จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกและในบ้านเมืองช่วงนั้น ทำให้จำเป็นจะต้องสร้างจุดเชื่อมทางการเกษตรเหล่านี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และมองว่าเห็นเรื่องที่จะต้องให้การสนับสนุน ด้วยหากเกษตรไทยสามารถทำได้ด้วยดี มีการนำเสนอ (Presentation) ที่ดี และถูกเผยแพร่ในช่องทางสื่อต่างๆ แล้ว ‘สิ่งนี้ก็จะขายด้วยตัวเอง’ ไปได้ตลอด และที่สำคัญต้องส่งต่อองค์ความรู้นี้ได้อีกด้วย
คุณบุญชัย บอกว่า “เราทำให้คุณรวยแต่คุณต้องช่วยให้คนอื่นรวยด้วย” พร้อมขยายความว่า
“เป็นเพราะเวลาเรารวยคนเดียวเขาหมั่นใส้เรา แต่ถ้าเขารวยกันหมดก็เหมือนคนรวยธรรมดา ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากที่เราต้องทำ เป็นเรื่องที่คนอีก 30 ล้านคนรอให้เราช่วยอยู่”
สำหรับในปี2568 มูลนิธิฯ เตรียมต่อยอดสู่โครงการแจกคู่มือพัฒนาเกษตรกรรมไทย เพื่อกระจายออกไปในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งโครงการฯในแต่ละปีได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชนที่ร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อขยายผลไปสู่รูปแบบ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ที่สร้างความแข็งแกร่งให้เกษตรกรไทยในเวทีอุตสาหกรรมการเกษตรระดับสากล
“อยากเห็นบ้านเรา เป็นบ้านเมืองที่มั่งคั่งต้องไม่มีใครมาข่มขู่เราได้ แม้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะพูดว่าอะไร คนไทยก็ยังสามารถอยู่ดีกินดี มีความสุข มีความภูมิใจที่ได้เกิดมาในเมืองไทย บนผืนแผ่นดินไทย” คุณบุญชัย กล่าวด้วยความศรัทธาต่อแผ่นดินแม่
‘เอไอ’ เป็นเหมือนผ้าขาวแต่งแบบไหนได้แบบนั้น
นอกจากนี้ คุณบุญชัย ในฐานะผู้คร่ำหวอดในแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายของไทยในยุคบุกเบิก ยังทิ้งท้ายมมองถึงเทคโนโลยีโลก ที่จากนี้ไปจะเปลี่ยนแปลงไปอีกสิ้นเชิง จากการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนโลกให้หมุนเร็วไปต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ด้วยหลายคนอาจหวั่นเกรงการเข้ามาของเอไอ และเรียกร้องให้เก็บภาษีผู้ที่ทำเอไอมากๆ เพื่อนำเงินมาชดเชยให้ผู้คนที่ตกงานจากเอไอ ซึ่งอาจจะต้องไปดูก่อนว่า เอไอจะไปถึงจุดไหน หรือว่ามนุษย์จะพัฒนาเอไอไปในรูปแบบใดในอนาคตว่าจะเข้ามาทำประโยชน์ในด้านใดให้กับประเทศ หรือ มนุษยชาติ
“เราต้องมองการพัฒนาเอไอในแบบนักวิทยาศาสตร์ตะวันออก อย่ามองแบบตะวันตก โดยเฉพาะของจีน ที่มองว่าเอไอเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ ถ้าเราเลี้ยงให้เป็นคนที่นอบน้อมถ่อมตน รู้จักคุณคน เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แต้ถ้าเราสอนให้เขาเป็นแบบตะวันตก สอนให้เป็นนักรบ แบบจีไอโจ แบบ อเวนเจอร์ เป็นแบบซูเปอร์ ฮีโร่ เมื่อโตมาเขาก็จะเป็นแบบนั้น จะมองว่าศัตรูอยู่ทุกแห่ง”
พร้อมย้ำว่า “เราต้องเลี้ยงเอไอให้เป็นแบบปราชญ์ตะวันออก มาเป็นผู้ช่วยของมนุษย์ ไม่ต้องให้เขารับรู้ความแค้น ความโกรธ ความเป็นปฏิปักษ์ ถ้าทำแบบนี้จะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ให้กับคนหมู่มาก”
คุณบุญชัย จบการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ด้วยความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีเอไอ ที่สามารถ ‘Generative’ ให้เป็นผู้ช่วยที่ดีให้กับมนุษย์ มากกว่าการเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว