‘อโณทัย’ แม่ทัพใหญ่ไอบีเอ็ม เผย 5 เทรนด์เอไอในปี2568 เข้าสู่ยุคโลกตื่นรู้ ใช้ AI ได้ผลลัพธ์คืนทุนจริง พร้อมวางมิชชั่นสู่ ‘ท็อปทรี’ เอไอสำหรับองค์กรและเข้าถึงเอสเอ็มอีไทย
‘อโณทัย เวทยากร’ หลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย ถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 11 เดือนแล้ว พร้อมหนึ่งในภารกิจนำยักษ์สีฟ้า ‘ไอบีเอ็ม’ สู่การเป็น ‘ท็อปทรี’ (Top3) แบรนด์ในใจด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ ‘เอไอ’ สำหรับองค์กรธุรกิจและเอ็มเอ็มอี (Enterprise)ในตลาดประเทศไทย
ขณะที่ความท้าทายหลักในตลาดนี้ คือ “การเร่งสร้างความคุ้นเคยผลิตภัณฑ์ไอบีเอ็มให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่และการขยายตลาดองค์กรรวมถึงเอสเอ็มอี ด้วยเทคโนโลยีระดับโลกอย่างเอไอในราคาที่จับต้องได้”
พร้อมเสริมว่า ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นปีที่เอไอ ตื่นรู้และจะหมุนโลกไปต่อข้างหน้า ด้วยองค์กรต่างๆ จะนำ ‘เอไอ’ ไปใช้งานจริง (Use case)ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจในระยะยาวจากการลงทุนเอไอล่วงหน้า ที่จะได้ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) คืนกลับมาได้เร็วกว่าที่คิด
ปรับเป้า 3พันล.ดอลลลาร์ฯ
อโณทัย บอกว่าต่อเรื่องนี้ ‘ไอบีเอ็ม’ ยังสะท้อนความสำเร็จผ่านยูสเคสขององค์กรในประเทศไทย ด้วยการนำเอไอมาใช้เชิงกลยุทธ์ (Strategic) ไปจนถึงงานระบบสนับสนุนหลังบ้าน (Back office) ต่าง ๆ อย่างงานบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) งานจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) งานผู้ช่วยด้านไอที หรือ งานระบบอัตโนมัติ (Automation) รวมถีงในด้านธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินการมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา
จากแนวทางดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของไอบีเอ็ม ตามที่ ‘อาร์วินด์ กฤษณะ’ (Arvind Krishna) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไอบีเอ็ม (IBM) ได้ประกาศไปก่อนหน้า ถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นในปีนี้ (2567) ไอบีเอ็ม จะมี ROI กลับมาสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากเป้าเดิมของปีนี้วางไว้ 2,000 ล้านดอลลาร์ฯ โดยเมื่อช่วงเดือนพ.ค.ปีนี้ ได้ROI แล้ว 1,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากการนำเอไอมาใช้เชิงกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยง
Gen AI ในฟังก์ชันธุรกิจหลัก
อโณทัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเอไอ ได้เข้ามามีบทบาทมานานก่อนหน้าร่วม 30 ปี ตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ต โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เอไอตื่นจากการหลับใหลโดยผู้บริโภค (Consumer) เป็นผู้ขับเคลื่อนและจุดกระแส ‘ความตื่นเต้น’ ต่อการมาของเอไอให้เกิดขึ้น
“เป็นเรื่องที่ดีที่ฝั่งคอนซูเมอร์มีความคุ้นชินกับเอไอมากขึ้น และจากนี้ไปเอไอจะถูกนำไปใส่ในทุกองคาพยพ” อโณทัย กล่าว พร้อมเสริมว่า
สำหรับในปี 2567 นี้เรียกว่าเป็นยุคไฮเปอร์ เอ็กซเพอริเมนต์ (Hyper Experiment) มีการทดลองการใช้งานเอไอ ในโปรเจกต์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม (Manufacturing) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และด้านต่างๆ ที่มีการสร้างโครงการนำร่องเกิดขึ้นตลอดทั้งปีที่ผ่านมา และพบว่ามีจำนวนราว 5-10% เท่านั้น ที่นำออกมาใช้ก่อนได้จริง
ขณะที่ การลงทุนด้านเอไอในองค์กรธุรกิจของไทย ยังมีความท้าทายจากการสร้างความเข้าใจร่วมกันของผู้บริหารสูงสุดองค์กร ทั้ง3 ฝ่าย ให้ได้ คือ ผู้บริหาร, การเงิน และ ดิจิทัล ด้วยการใช้เอไอนั้นจะเป็นการลงทุนในระยะยาวและนำมาประยุกต์ใช้งาน ไม่ได้เป็น ‘Ready Solution’ ซื้อมาแล้วพร้อมใช้ได้เลย ไม่อาจหวังผล ROI ให้เกิดขึ้นได้ในช่วง 3 เดือน หรือ 6 เดือน จากการลงทุนเอไอ แต่ากไม่ตัดสินใจนำมาใช้ ก็อาจทำให้เสียโอกาสในหลายด้านได้เช่นกัน
เอไอ สร้างแต้มต่อ
โดย IBM เผยผลการศึกษา ‘APAC AI Outlook 2025’ ระบุ องค์กรในเอเชียแปซิฟิคกำลังเดินหน้าก้าวข้ามระยะทดลองการใช้ AI สู่การสร้างผลลัพธ์สูงสุดจากการลงทุนด้าน AI โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (54%) คาดหวังว่า AI จะนำมาซึ่งประโยชน์ระยะยาวแก่องค์กรธุรกิจ
ขณะที่ การมองหาความสำเร็จระยะสั้นในช่วงเริ่มแรกของโครงการ Generative AI (Gen AI) ต่างๆ ทำให้องค์กรเข้าใจศักยภาพของ AI ลึกซึ้งมากขึ้น นำสู่การเปลี่ยนโฟกัสจากการใช้งานในรูปแบบงานที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักขององค์กร ไปสู่การใช้ Gen AI ในฟังก์ชันธุรกิจหลักเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันและ ROI จากการลงทุน
โดยรายงานที่จัดทำโดย Ecosystm ในนามของ IBM พบว่าเกือบ 60% ขององค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่สำรวจ คาดว่าตนจะได้รับ ROI จากการลงทุนด้าน AI ภายในสองถึงห้าปี และมีเพียง 11% เท่านั้นที่คาดหวังจะได้รับผลตอบแทนภายในสองปี
ก้าวต่อไปของ AI ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ในปี 2568 การลงทุน AI จะมุ่งเน้นที่การออโตเมทกระบวนการธุรกิจของส่วนงานแบ็คออฟฟิศ (29%) การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้านไอที (18%) รวมถึงการออโตเมทงานด้านการขายและการจัดการวงจรชีวิตของลูกค้า (16%) โดยมีความก้าวหน้าและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นของเทคโนโลยี AI (42%) ความกดดันในแง่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (41%) รวมถึงความกดดันจากลูกค้า (39%) เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ
อย่างไรก็ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ องค์กรไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลัก อย่างปัญหาเวนเดอร์ล็อคอิน (41%) การขาดเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาโมเดล AI (38%) และต้นทุนการติดตั้งระบบหรือค่าใช้โซลูชัน AI ต่างๆ (34%)
อโณทัย กล่าวว่า "วันนี้ AI กำลังวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วจากการทดลองนำร่องสู่การนำไปใช้เชิงกลยุทธ์"
ขณะที่ ในปี 2568 องค์กรจะมองหาโมเดล AI ที่มีความเฉพาะด้านและมีขนาดเล็กลง และมาพร้อมสถาปัตยกรรมแบบโอเพ่นซอร์สที่ให้ความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยโฟกัสจะอยู่ที่การเน้นความได้เปรียบในการแข่งขันและการเพิ่ม ROI
ทิศทางเอไอ ปี2568
รายงานฯ ยังได้ระบุเทรนด์เชิงกลยุทธ์ห้าประการที่จะกำหนดอนาคต AI ขององค์กรในเอเชียแปซิฟิคและในประเทศไทยในปี 2568 ประกอบด้วย
- รายได้ที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะทวีความสำคัญ: องค์กรจะนำแนวทาง ‘Strategic AI’ มาใช้ในปี 2568 โดยให้ความสำคัญกับโครงการต่างๆ บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และผลกระทบทางธุรกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตกผลึกว่าการพยายามสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับภายในองค์กรเพื่อความสำเร็จของโครงการ AI ในระยะแรก ต้องสมดุลกับกลยุทธ์ AI ระยะยาว ความท้าทายในวันนี้คือการสเกล AI ผ่านกรณีการใช้งานต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางรายได้และ ROI สูงสุด
- โมเดลโอเพนซอร์สขนาดเล็กและเฉพาะทางจะเป็นทางเลือกที่ทรงพลังสำหรับการใช้งาน AI ในรูปแบบต่างๆ: โมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อตอบวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงขององค์กรจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งรวมถึงโมเดลที่ออกแบบเฉพาะสำหรับภาษาท้องถิ่น ตอบโจทย์บริบทของแต่ละภูมิภาค และงานการคำนวณคอมพิวติ้งที่ซับซ้อนน้อยกว่า โดย "Rightsizing AI" นี้ จะใช้ข้อมูลในการเทรน AI น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นต์น้อยกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่
- องค์กรเปิดรับเครื่องมือใหม่เพื่อสร้างความโปร่งใส รวมถึงกำกับดูแลและช่วยบูรณาการระบบ AI แบบไร้รอยต่อ: องค์กรในเอเชียแปซิฟิค รวมถึงในประเทศไทย จะใช้ประโยชน์จากโมเดล AI โอเพ่นซอร์สมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและประสิทธิภาพ โดย "Unified AI" พร้อมเครื่องมือการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้การบริหารจัดการโซลูชันตางๆ เป็นไปอย่างยืดหยุ่น คุ้มค่า มีการรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้น และเชื่อมโยงโซลูชันของผู้ให้บริการต่างๆ ได้แบบไม่มีสะดุด
- ตัวช่วย AI จะกำหนดอนาคตการทำงานรูปแบบใหม่: องค์กรจะมองถึงเวิร์คโฟล์วการทำงานเชิงปฏิบัติการมากขึ้น โดยมีตัวช่วย AI (AI agent) ที่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้อัตโนมัติด้วยตัวเองคอยสนับสนุน โดยทำงานร่วมกับพนักงานในองค์กรเพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ ในปี 2568 "Agentic AI" ซึ่งผสมผสาน AI กับระบบอัตโนมัติ จะสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และเสริมการตัดสินใจได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม องค์กรจำเป็นต้องวางแนวทางกรอบควบคุมภายในและประเมินโมเดลที่รองรับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจถึงการใช้งานอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ
- นวัตกรรมที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจะขับเคลื่อนเฟสต่อไปของ AI: แม้การใช้งานในฐานะการเป็นเครื่องมือเพิ่มผลิตภาพจะเป็นโฟกัสหลักของการนำ AI มาใช้ในช่วงที่ผ่านมา แต่อนาคตจะขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อยกระดับประสบการณ์และความสามารถของมนุษย์ โดยแนวทาง "Human-Centric AI" จะกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังสำหรับพนักงานในองค์กร ทั้งในแง่การสนับสนุนบทบาทหน้าที่ต่างๆ การช่วยออโตเมทกิจวัตรงานต่างๆ รวมถึงการปลดล็อคโอกาสใหม่ๆ ในด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การให้ความสำคัญกับการออกแบบ AI ที่เข้าใจความรู้สึก จะช่วยให้องค์กรสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและความภักดีต่อแบรนด์ได้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เอไอ ผู้ช่วยมนุษย์
อโณทัย กล่าวสรุปว่า “การนำเอไอมาใช้ในการทำงานไม่ได้ทำให้ผู้คนหายไป เพราะไม่ได้เป็นการเอามาแทนที่มนุษย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอไอทำให้การทำงานเปลี่ยน ซึ่งจะสอดคล้องสิ่งที่โลกเป็นไป ทั้งอัตราเกิดประชากรที่น้อยลง รวมถึงประเทศไทยเมีด็กเกิดลดลง ถ้าเราไม่เอามาใช้ก็จะมีคนทำงานน้อยลงอยู่แล้ว ซึ่งเอไอเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นการเสริมด้านออโตเมชั่น"
สอดคล้องกับ ‘อุลริช โลฟเลอร์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ecosystm กล่าว “วัตถุประสงค์ของ AI จะต้องเป็นไปเพื่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกเสมอ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการสร้างความน่าเชื่อถือ การร่วมมือ และการสร้างสรรค์ร่วมกัน ความก้าวหน้าควรตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า AI เป็นตัวสนับสนุนมากกว่าที่จะแทนที่มนุษย์ โดยทั้งคู่สามารถทำงานและเติบโตไปด้วยกันได้”
ขณะที่ ส่วนที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนา AI คือมนุษย์ และมนุษย์จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการตรวจตราการใช้งานที่สำคัญๆ อย่างสม่ำเสมอ