หอการค้าไทยชงทำ Sandbox เดินหน้าสู่ e-Government ผนึก ก.พ.ร.-พาณิชย์ เชื่อมข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดซ้ำซ้อน ประหยัดต้นทุนกว่า 7,100 ล้านบาทต่อปี
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนสนับสนุนภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขั้นตอนและข้อจำกัดทางกฎหมาย รวมถึง ระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะการขออนุมัติ/อนุญาตให้มีความสะดวก ซึ่งเมื่อช่วงกลางปีนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ประสานกับ 10 หน่วยงานรัฐ จนสามารถเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลสำเร็จ ทำให้ลดกระบวนงานเรียกเอกสารได้จำนวนมาก ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จระยะที่ 1 ของการไม่เรียกไม่เซ็นเอกสาร ลดภาระต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวให้ธุรกิจและประชาชน
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความยินดีต่อผลสำเร็จของการขยายผลเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 2 นี้ ซึ่งครอบคลุมหน่วยงานรัฐเพิ่มอีก 12 หน่วยงาน จากที่ได้เชื่อมโยงไปแล้ว 10 หน่วยงาน ทำให้ปัจจุบันเรามีถึง 22 หน่วยงานรัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและยกเลิกการเรียกเอกสารนิติบุคคลได้ ถือเป็นการยกระดับบริการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับ 12 หน่วยงานประกอบไปด้วย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมทางหลวงชนบท กรมการท่องเที่ยว กรมท่าอากาศยาน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช)
นอกจากนี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมทั้ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีแนวทางจะทำ Sandbox ร่วมกับ กพร. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน จะเชิญสมาชิกฯ มาร่วมขับเคลื่อนแนวทางไม่เรียก ไม่เซ็นสำเนา ในทุกเอกสารและทุกกระบวนงาน ในลักษณะเอกชนต่อรัฐ หรือ Business to Government (B2G) นำร่องกระบวนงานสำคัญ เพื่อเป็น Quick Win ต้นแบบการอำนวย ความสะดวกการประกอบธุรกิจด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนอย่างเข้มแข็ง เดินหน้าสู่ e-Government แบบครบวงจร
น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวถึง ความมุ่งมั่นของภาครัฐในการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ โดยผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ผ่านการออกกฎหมายต่าง ๆ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อแก้ปัญหาความไม่สะดวกต่างๆ ของการอนุมัติ อนุญาต
2.พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดแนวทาง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารราชการแผ่นดิน 3. พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการของภาครัฐสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้เพื่อไปสู่รัฐบาลดิจิทัล
3.ร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ.. โดยกฎหมายฉบับนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐเพื่อให้บริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดภาระการขอเอกสารจากประชาชน ซึ่งจากความสำเร็จในระยะแรกของ 10 หน่วยงานรัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ขยายผลกับหน่วยงานอื่นที่เหลือ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่มีความพร้อมยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2567 จำนวน 12 หน่วยงาน ซึ่งได้แถลงข่าวในครั้งนี้
(2) กลุ่มที่ต้องมีการทบทวนกระบวนงานซึ่งสามารถยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2568 จำนวน 25 หน่วยงาน และ(3) กลุ่มที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถยกเลิกการเรียกรับเอกสารเกี่ยวกับ นิติบุคคลได้ ภายในเดือนธันวาคม 2569 จำนวน 27 หน่วยงาน
อย่างไรก็ตามความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก 22 หน่วยงานรัฐ ที่ร่วมขับเคลื่อนการยกเลิกใช้เอกสารเกี่ยวกับนิติบุคคล ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวม ได้กว่า 7,100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร.และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยการสนับสนุนของภาคเอกชน จะร่วมกันผลักดันให้สำเร็จตามแผนดังกล่าวให้ครบทุกหน่วยงานภายในปี 2569 เพื่อพัฒนาระบบราชการให้เป็นเสาหลักของการพัฒนาประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันนี้ ผู้ประกอบการไทยจะดำเนินธุรกิจได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ต้องใช้เอกสารข้อมูลนิติบุคคลในการติดต่อราชการอีกต่อไป ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ที่มุ่งหวังอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ความมุ่งมั่นในการยกระดับระบบราชการไปสู่ Digital Government และเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การหารืออย่างใกล้ชิดจนสามารถประกาศไม่เรียกรับเอกสารนิติบุคคลเพิ่มอีก 12 หน่วยงาน ในวันนี้
สำหรับข้อมูลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เชื่อมโยงให้กับหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 7 ชุดข้อมูล ได้แก่ 1. ข้อมูลทะเบียนนิติบุคคล 2. ข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น 3. ข้อมูลงบการเงิน 4.ข้อมูลทะเบียนพาณิชย์ 5. ข้อมูลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 6. ข้อมูลทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ และ 7. ข้อมูลสนับสนุนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของนิติบุคคล
นางอรมน กล่าวว่า ภายหลังจากการประกาศยกเลิกการเรียกรับเอกสารนิติบุคคลของ 10 หน่วยงานภาครัฐชุดแรกไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า 10 หน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการใช้บริการเอกสารจากระบบรวม 2.8 ล้านรายการ โดยหน่วยงานที่มีสัดส่วนการใช้บริการสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมที่ดิน ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและการไม่เรียกเอกสารจากประชาชน สามารถอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนของ ภาคธุรกิจและภาครัฐได้มาก โดยข้อมูลของสำนักงาน ก.พ.ร. พบว่า ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการมากกว่า 7 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนไปสู่ Digital Government และการอำนวยความสะดวกประชาชน