สอ.กฟผ.จัดเวทีสัมนาวิชาการถกร่างกฏกระทรวงคุมเข้มการใช้เงิน เสี่ยงทำระบบสหกรณ์พัง ชี้จำกัดแหล่งเงินทุนกระทบรายได้และผลตอบแทนสมาชิก
นายชาติชาย โรจนรัตนางกูร ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สอ.กฟผ.) เปิดเผยว่า ทางสอ.กฟผ.ได้จัดสัมนาวิชาการประจำปี 2567 หัวข้อ “ชำแหละกฎกระทรวงและร่างประกาศคพช.ที่เกี่ยวข้องกับการฝากเงินและการลงทุนสหกรณ์” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฏกระทรวงการฝากเงินและการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนพ.ศ. 2267 และร่างประกาศคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ(คพช.) เรื่องข้อกำหนดการฝากหรือลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์
ทั้งนี้เนื่องจากร่างกฏกระทรวงดังกล่าวจะส่งผลต่อการส่งเสริมการออกของภาคประชาชน การลงทุนของสหกรณ์ทั้งตราสารหนี้ และตราสารทุน รวมทั้งกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะหุ้นรัฐวิสาหกิจที่สหกรณ์ลงทุน โดยเฉพาะส่งผลต่อรายได้ของสหกรณ์ การจ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝาก เงินปันผลสมาชิก
สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงฯระบุว่า ให้การลงทุนในนิติบุคคลแต่ละแห่งไม่เกิน 10% เมื่อนำมารวมกันแล้วต้องไม่เกินทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ และต้องได้รับความเห็นชอบแผนและวงเงินลงทุนจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณฯ ซึ่งเป็นการกำหนดสัดส่วนการลงทุน จะทำให้สหกรณ์ต่างๆไม่สามารถบริหารจัดการลงทุนและต้องแก้ไขพอร์ตลงทุนทั้งหมด
นอกจากนี้จะมีผลกระทบต่อสมาชิกเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มรัฐวิสาหกิจ เมื่อสมาชิกเกษียณอายุการทำงานจะนำเงินก้อนสุดท้ายที่ได้รับจากหน่วยงานมาฝากไว้กับสหกรณ์ เพื่อสร้างผลตอบแทนรายเดือน แต่ในร่างประกาศฯฉบับนี้ หากสหกรณ์นำเงินไปลงทุนตามข้อกำหนดใหม่สหกรณ์จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและลดเงินปันผล เนื่องจากรายรับของสมาชิกลดลง ยากต่อการบริหารจัดการเงิน
นายฐกร บึงสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า จำกัด กล่าวในเวทีสัมมนาหัวข้อ “เจาะลึกผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนเมื่อพอร์ตลงทุนสหกรณ์ต้องเปลี่ยนแปลง”ว่า ปัจจุบันเงินในพอร์ตของกลุ่มสหกรณ์ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท ซึ่งนำไปลงทุนทั้งพันธบัตร และหลักทรัพย์ ในขณะที่เงื่อนไขกฏกระทรวงฯมีการจำกัดแหล่งลงทุน โดยสหกรณ์จะลงทุนหลักทรัพย์ได้เฉพาะหุ้น ของบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท.จำกัด (MCOT) เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการจำกัดสัดส่วนการลงทุนด้วยสหกรณ์เองน้อยลง แต่ให้กระจายไปลงทุนผ่านบลจ.ที่เป็นภาครัฐ ได้แก่ กองทุนวายุภักษ์โดย บลจ.เอ็มเอฟซี และบลจ.กรุงไทย เงื่อนไขเหล่านี้เป็นการผูกขาดเกินไปจะทำให้สหกรณ์รายได้ลดลง ดอกเบี้ยเงินฝากจะลดลงจากเดิมที่เคยได้รับ 5-6 % จะเหลือเพียง 3.5% และทำให้เงินปันผลหายไป
นายณัฐดนัย ประทานพรทิพย์ Direct-Equity Portfolio Investment Department บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า การจำกัดการลงทุนของสหกรณ์จะทำให้ผลตอบแทนลดลงไป และเกิดการลงทุนกระจุกตัว โดยมีเม็ดเงินที่เหลือจากการลงทุนจำนวนมาก
ขณะที่นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์รัฐวิสาหกิจไทย จำกัด กล่าวในสัมนาหัวข้อ การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบทางการเงินของสมาชิกจากข้อจำกัดการลงทุนของสหกรณ์ ว่า สหกรณ์ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเหลือมากกว่าขาด สหกรณ์คงต้องลดดอกเบี้ยฝากลง ส่งผลให้รายได้สมาชิกลดลงเช่นกัน และอาจถอนเงินไปลงทุนในตลาดการเงิน (หุ้นกู้) ซึ่งเงินทุนที่หายไปจะไปเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์และกองทุนรวมของภาครัฐ ตลอดจนไปช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนในตลาดหุ้น แต่จะเป็นการทำลายระบบสหกรณ์ในระยะยาว
อย่างไรก็ตามต้องการให้ภาครัฐมีการทบทวนร่างประกาศคพช.ใหม่ ซึ่งควรมีการเจรจากันในระหว่างที่ยังจัดทำประชาพิจารณ์อยู่ ไม่เช่นนั้น กลุ่มสหกรณ์อาจจะต้องไปใช้กระบวนยุติธรรม ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป