ดัชนีเชื่อมั่นฯเดือนมี.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่10 มีสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ท่องเที่ยวกลับมาอย่างชัดเจน จับตาหลังเลือกตั้งการเมืองรื้องบเกิดสุญญากาศรัฐบาล
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึง ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2566 (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 52.6 เป็น 53.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 37 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา
ทั้งนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทย ใกล้หลุดพ้นจากช่วงโควิด ซึ่งความเชื่อมั่นจะทำให้คนไทยเริ่มมีการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าคงทน อย่างบ้านและรถยนต์ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะโดดเด่นมากที่สุดและจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ค่าดัชนีโดยรวมจะดีขึ้น แต่ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 เนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นแต่ยังไม่ดี ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มลดลงบ้าง แต่สิ่งที่ยังกังวลคือเรื่องค่าไฟฟ้าเดือนพ.ค.-ส.ค. จะแพงขึ้น จะเป็นตัวที่ทำให้ความเชื่อมั่นยังไม่ผ่อนคลาย ประกอบกับในช่วงของการเลือกตั้ง แม้จะคาดว่ามีเงินหมุนในระบบ 1.2 แสนล้านบาท แต่หลังเลือกตั้ง ต้องมองเรื่องการเมืองควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การจัดทำงบประมาณอาจไม่เร็ว และต้องมีการปรับงบประมาณกันใหม่ ซึ่งไตรมาส 3-4 เป็นช่วงสุญญากาศรัฐบาล อาจทำให้จีดีพีปีนี้ที่มองไว้ 3.5% ไม่ใช่เรื่องง่าย”