เดอะคอฟฟี่ คลับ อยู่ไทยมา10 ปี พลิกกลับมีกำไร 20 เท่าตัวในปี67 ด้วยกลยุทธ์ปรับทำเลเหมาะสม เปิดสาขาใหม่ในรพ.จุฬาให้บริการ 24 ชม. ‘แฟล็กชิป’ สร้างแบรนด์ขยายตลาดแมส
นงชนก สถานานนนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เอ็มเอฟ คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองต์ จำกัด ในกลุ่มบริษัทไมเนอร์ เปิดเผยว่า ในปี2567 นี้ เดอะคอฟฟี่ คลับ จะมีกำไรราว 1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือมากกว่า 20 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 20 เท่าตัวเทียบในปี 2566 มีกำไรอยู่ที่ราว 1 ล้านบาท หลังจากเดอะคอฟฟี่ คลับ เข้ามาให้บริการในไทยมาร่วม 10 ปี
สำหรับการเติบโตผลกำไรดังกล่าว มาจากแผนการบริหารธุรกิจ เดอะคอฟฟี่ คลับ ในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) ที่ผ่านมา ด้วยกลยุทธ์การปรับลดทำเลสาขา พร้อมบริหารเมนูสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และเพิ่มกลุ่มสินค้าอาหารว่าง (สแน็ก)ภายในร้านฯ เพื่อขยายฐานกำลังซื้อในกลุ่มเป้าหมายทั้งคนท้องถิ่น และ ชาวต่างชาติ ในหัวเมืองท่องเที่ยว
“ก่อนหน้าเดอะคอฟฟี่ คลับมี 72 สาขา ได้ปรับลดมาเหลือ 30 และปัจจุบันในปีนี้เพิ่มเป็น 40 สาขา” นงชนก กล่าวพร้อมเสริมว่า “นอกจากนี้ยังได้เข้ามาดูแลการลงทุนด้านต่างๆ รวมถึงสร้างโอกาสขายใหม่ในกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่ให้เข้าถึง ง่ายขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนไทย จากเดิมที่มองว่าเราแพง”
ล่าสุด เดอะ คอฟฟี่ คลับใช้งบลงทุนกว่า 6 ล้านบาท เปิดสาขา MDCU ภายในคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MDCU) สาขาใหม่ลำดับที่ 42 ของปีนี้ ให้บริการ 60 ที่นั่ง บนพื้นที่ 140 ตร.ม.
โดยสาขาฯ นี้ยังใช้คอนเซปต์แนวคิดยั่งยืน ด้วยการตกแต่งโฉมใหม่หมดทั้งโทนสีและการเลือกใช้วัสดุเฟอร์นิเจอร์ในร้านที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลและอัปไซเคิล เช่น โต๊ะและที่นั่งภายในร้านที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงานอุตสาหกรรม เคาน์เตอร์ชงกาแฟทำจากเยื่อกาแฟเหลือจากกระบวนการคั่วสำหรับชงเอสเปรสโซ่กว่า 1,200 แก้ว และพลาสติกรีไซเคิล จำนวน 90 กิโลกรัม เป็นต้น
นอกจากนี้ เดอะ คอฟฟี่ คลับ สาขา MDCU จะเน้นเครื่องดื่มและอาหารว่างหมวดเบอเกอรี่ เป็นหลัก พร้อมปรับราคาสินค้าลดลง อาทิ เครื่องดื่มไซส์เอ็ม(M) วางราคาเริ่มต้น 60 บาทสำหรับบุคคลทั่วไป หรือปรับลดลง 50% เทียบจากราคาเครื่องดื่มไซส์เดียวกัน ของเดอะคอฟฟี่ คลับ สาขาอื่น อยู่ที่ 120 บาท ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อแสดงบัตรประจำตัวยังจะได้รับส่วนลดเครื่องดื่มไซส์เอ็ม มีราคาเริ่มต้น 48 บาท ด้วย
สำหรับสาขานี้ เตรียมเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ คาดจะได้ผลตอบรับดีทั้งจากกลุ่มลูกค้าออฟไลน์ที่เข้ามาใช้บริการและลูกค้ากลุ่ม Pick Up ที่สั่งซื้อผ่านฟู้ดแอปเดลิเวอรี่ จากในช่วงทดลองเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมามีปริมาณลูกค้าหมุนเวียน (Traffic)ไม่ต่ำกว่า 500 รายต่อวัน แบ่งสัดส่วน 30% กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์ 30% กลุ่มเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ และอีก 40% กลุ่มประชาชนทั่วไป
"ร้านคอนเซปต์ใหม่สาขา MDCU หลังเปิด 24 ชั่วโมงแล้วจะวัดผลตอบรับรอบด้านก่อนพิจารณานำโมเดลนี้ ขยายให้บริการในทำเลอื่นที่เหมาะสมต่อไป จาก่อนหน้ามี 1 สาขาเปิดให้บริการตามเวลาปกติที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ" นงชนก กล่าว
นงชนก กล่าวต่อสำหรับแผนธุรกิจเดอะ คอฟฟี่ คลับ ในปี 2568 เตรียมใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท เพื่อปรับโฉมสาขาเดิมและขยาย อีก 3-4 สาขาใหม่ ในทำเลกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว โดยในไตรมาสแรก จะเปิดสาขา 24 ชั่วโมงเพิ่มเติมอีก โดยพิจารณาจากความเหมาะสมของทำเล จากปัจจุบัน เดอะ คอฟฟี่ คลับ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง มี 2 สาขา ที่ MDCU และ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ (Staybridge Bangkok Thonglor)
โดยในปี 2567 นี้ ได้เปิดสาขาใหม่ 4 แห่ง ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และ รูปแบบแฟรนไชส์ใน เวียงจันทน์ สปป.ลาว 1 แห่ง ปัจจุบันมีสาขารวมในกรุงเทพ 22 แห่ง และสาขาในต่างจังหวัด 19 แห่ง แบ่งเป็น ภูเก็ต 13 สาขา กระบี่ 2 สาขา สมุย 1 สาขา หิวหิน 1 สาขา พัทยา 2 สาขา และอีกหนึ่งสาขาล่าสุด รอยัล การ์เด้น พลาซ่า พัทยา
นงชนก กล่าวว่าสำหรับธุรกิจร้านกาแฟในปี 2568 คาดว่าจะมีความท้าทายจากต้นทุนวัตุถดิบต่างๆ ที่ปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเดอะคอฟฟี่ คลับ จะประคับประคองและตรึงราคาสินค้าในการทำตลาด โดยใช้จุดแข็งบริษัทแม่เดอะคอฟฟี่ คลับ ในประเทศออสเตรเลียซึ่งมีโรงคั่วเมล็ดกาแฟเป็นของตัวเอง ทำให้ธุรกิจในไทยสามารถทำราคาเมล็ดกาแฟได้ในราคาพิเศษ
ทั้งนี้ จากแนวทางดังกล่าว บริษัทวางเป้าหมายเติบโตขึ้นราว 10% ในปี 2568 จากในปีนี้เติบโตอยู่ที่ 9%