บี.กริม เพาเวอร์ ลงทุนใหญ่ แผน 7 ปีลงทุน 1.36 แสนล.บาท ร่วมนิคมฯ อมตะ ทำ Data Center

บี.กริม เพาเวอร์ ลงทุนใหญ่ แผน 7 ปีลงทุน 1.36 แสนล.บาท ร่วมนิคมฯ อมตะ ทำ Data Center
หลังปรับโครงสร้างบอร์ด-ธุรกิจ บี.กริม. เพาเวอร์ วางกลยุทธ์ปี68 ลงทุนรวม 1.36 แสนล.บาท ขยายธุกิจระดับโลกผ่านร่วมทุน/ซื้อกิจการและพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมหาทุน 7 หมื่นล. รับเติบโตระยะยาว

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่า หลังปรับโครงสร้างบริหาร พร้อมแบ่งธุรกิจใหม่ 3 กลุ่มงาน โดยมีผู้บริหารระดับสูงรับผิดชอบ ประกอบด้วย

  1. กลุ่มธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยมี พีรเดช พัฒนจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  2. กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมี นพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  3. กลุ่มงานการเงินและบัญชี โดยมี ศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร งานการเงินและบัญชี

โดยในปี 2567  บี.กริม เพาเวอร์ ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตโครงการโรงไฟฟ้าหลากหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งยังเป็นทิศทางหลักที่บริษัทจะมุ่งไปตลอดปี 2568 เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์  ‘สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี’ พร้อมพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของ “ค่านิยมองค์กร” บี.กริม เพาเวอร์ ใน 4 เรื่องหลัก คือ ความเป็นมืออาชีพ การมีทัศนคติที่ดี ความร่วมมือกัน และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

พร้อมกันนี้ ยังวางแนวทางตามแผน ‘B.Grimm Towards 2025’  ด้วยกลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2568 ได้แก่

1. การเติบโตของพลังงานหมุนเวียน และการขยายธุรกิจในระดับโลก โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 10 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ พร้อมดำเนินการตามแนวทาง Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ควบคู่กับการขยายธุรกิจในตลาดโลก อาทิ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการร่วมทุน การเข้าซื้อกิจการ และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

2. การเป็นพันธมิตรด้านพลังงานสำหรับ Data Centers บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งสู่การเป็นพันธมิตรหลักในการจัดหาพลังงานให้กับ Data Centers ในประเทศไทย โดยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อจัดหาพลังงานหมุนเวียนและให้บริการโซลูชั่นพลังงานครบวงจรรองรับความต้องการของ Data Centers ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี และอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับศูนย์ข้อมูลขนาดรวม 310 เมกะวัตต์

3. การจัดสรรเงินทุน (Capital Allocation) อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เราให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน โดยวางแผนการลงทุนในโครงการต่างๆ ในช่วงปี 2567-2573 รวมทั้งสิ้น 136,000 ล้านบาท ซึ่งเน้นลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนถึง 85% ในขณะที่แผนการลงทุนเฉพาะส่วนทุนของ บี.กริม เพาเวอร์ จำนวน 70,000 ล้านบาท จะเป็นพลังงานหมุนเวียนถึง 94% ทั้งนี้แหล่งที่มาของเงินลงทุนของ       บี.กริม เพาเวอร์ จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน, การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ และหุ้นกู้ทั่วไป, เงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ และการขายสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า “เรา ยังดำเนินกลยุทธ์การลงทุนด้วยการพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (EIRR) เป้าหมายอยู่ที่ 10-15% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของเทคโนโลยีในแต่ละโครงการ ความน่าเชื่อถือของประเทศและผู้รับซื้อไฟฟ้า (Offtaker) รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้”

นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังมุ่งเน้นการบริหารหนี้สินและทุนอย่างเหมาะสม โดยตั้งเป้าอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 3.0 เท่าในช่วงเริ่มต้นของการจัดหาเงินทุนโครงการ พร้อมทั้งใช้ limited-recourse loan และ back-end equity โดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงและยกระดับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียและตลาดโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

สำหรับเป้าหมายในระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ พร้อมเดินหน้าเติบโตสู่องค์กรชั้นนำระดับโลก ก้าวสู่ความสำเร็จและขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลก ผลักดันให้ต่างประเทศเห็นถึงศักยภาพของคนไทย และช่วยนำพาธุรกิจ และพันธมิตรทุกคนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ศึกษาแนวทางขยายโรงไฟฟ้าหมุนเวียน

ด้าน นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจใหม่ในอนาคต และลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนลงจากปัจจุบัน1.8เท่าให้เหลือเพียง1เท่าในปี2568

เบื้องต้นแนวทางจัดหารเงินทุนมีอยู่ 4-5 แนวทาง ดังนี้คือการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าด้วยการลดสัดส่วนถือหุ้นลงในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ที่ปัจจุบันมี 23 โครงการ โดยศึกษาไว้ประมาณ 15-20 โครงการแต่ BGRIMยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 51%เพื่อมีอำนาจในการบริหารจัดการ

นอกจากนี้บริษัทมองแนวทางจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) , ศึกษาความเป็นไปได้ในการแยกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนออกมา (Spin-Off) ทั้งรูปแบบ Asset company และ Holding Company รวมถึงการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน

โดยแนวทางทั้งหมดนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2568 ว่าบริษัทอาจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือเลือกแนวทางทั้งหมดก็ได้

สำหรับแผนกลยุทธ์ในปี2568 บริษัทมุ่งสู่กาคเป็นพันธมิตรหลักในการจัดหาพลังงานให้กับData Center จากปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าญี่ปุ่นแล้ว 20 เมกะวัตต์ โดยลูกค้าญี่ปุ่นจะมีแผนซื้อไฟฟ้าเพิ่มเป็น 40เมกะวัตต์และ100เมกะวัตต์ในอนาคต ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างหารือเพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้า Data center จำนวน 4-5 ราย คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 300-500 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน BGRIM ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจ Data center ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ ปัจจุบันมีการหารือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดการเข้าลงทุนในธุรกิจ Data center โดยมีโอกาสควบรวมหรือซื้อกิจการ( M&A)กับพันธมิตรเบื้องต้นมีการศึกษาไว้ 40-100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า โดยบริษัทเตรียมเงินลงทุนไว้ที่ 5,000-7,000 ล้านบาท

ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในปีหน้าบริษัทมีแผนจะนำLNGเข้ามาไทยจำนวน 7 คาร์โก้ หรือ 4.5 แสนตัน จากปี2567 บริษัทได้นำเข้าLNG จำนวน 3คาร์โก้ จำนวน 2แสนตันเพื่อนโรงไฟฟ้าในเครือบริษัท

BGRIM ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ด้วยปริมาณนำเข้า LNG ที่ไม่เกิน 1.20 ล้านตันต่อปี สำหรับค้าส่งไปยังโรงไฟฟ้าในเครือของ บี.กริม เพาเวอร์ รวม 19 แห่ง และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

 

TAGS: #บีกริมเพาเวอร์ #พลังงาน #พลังงานทดแทน