‘พาณิชย์’คาดการณ์ปี’68 รับปัจจัยหนุนคู่ค้าฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตร-อาหารขยายตัวดี เกาะติดปัจจัยเสี่ยงนโยบายทรัมป์-ค่าเงินบาท
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย เดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดในหลายกลุ่มสินค้า รวมถึงความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการผลิตและส่งออก ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนในหลายด้าน
ทั้งความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความสามารถทางการแข่งขัน แต่ภาพรวมของราคาส่งออกและนำเข้า ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2567 เท่ากับ 110.6 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.1 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.6 (ยางพารา และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง) ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และทองคำ) ตามแนวโน้มความต้องการสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น สำหรับทองคำ แม้ราคาจะมีความผันผวน แต่ความต้องการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.0 (อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป) ตามความต้องการของตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 5.3 โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง และเฉลี่ย 11 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ย.) ของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.4 (AoA) โดยเป็นการขยายตัวได้ดีเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันยังคงอ่อนแอจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2567 เท่ากับ 112.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาในเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 7.6 (เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้) ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 3.9 (เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ) ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.7 (ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์) ตามความต้องการสินค้าเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามความต้องการอุปกรณ์และชิ้นส่วนเพื่อใช้ในการผลิตรถยนต์ภายในประเทศและส่งออก
ส่วนหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.4 (น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป) ตามทิศทางอุปสงค์น้ำมันโลกยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังส่งสัญญาณชะลอตัว และเฉลี่ย 11 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ย.) ของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.0 (AoA) โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหลายหมวดสินค้า ยกเว้นหมวดสินค้าเชื้อเพลิง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ตามความต้องการใช้ที่ชะลอลง
อย่างไรก็ตามแนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าเดือนธันวาคม 2567 และปี 2568 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าคาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2.ฐานราคาของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ 3. ราคาสินค้าเกษตรและอาหารบางรายการยังขยายตัวได้ดี และ 4. สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน และวัตถุดิบ รวมถึงค่าระว่างเรือ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย 2. ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค 3. ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกของไทย 4.การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และ 5. ความผันผวนของค่าเงินบาท