ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยในปี68 คาดโต 6.2% จากปี 67 มีมูลค่ากว่า 6.3 พันล้านบาท จากความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสอดคล้องเทรนด์ของโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยสำรวจในปี 2568 มูลค่าตลาดผู้รับบริการชาวไทย คาดว่าจะขยายตัว 5.0% จากค่านิยมมีบุตรช้าลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่มีความซับซ้อน และมีสาเหตุมาจากเพศชายมากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาวิธีการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
ขณะที่มูลค่าตลาดผู้รับบริการชาวต่างชาติ คาดว่าจะขยายตัว 7.6% โดยมีแรงหนุนจากราคาและคุณภาพบริการที่ยังโดดเด่นรวมถึงการขยายตลาดใหม่ของธุรกิจ
โดยแนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกปี 2568 คาดตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกในปี 2568มีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.8% จากปี 2567
มูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกยังมีทิศทางเติบโตนำโดยการบริการรักษาด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertility:IVF) ที่มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของมูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าส่วนแบ่งตลาดการรักษาด้วยวิธี IVF จะเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี2563 ไปเป็น 26% ในปี 2573 จากหลายประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยในระดับที่รุนแรงขึ้น
เจริญพันธุ์ลด ปัจจัยหลักหนุนตลาด
อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ประกอบกับปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ เป็นปัจจัยหนุนหลักที่ทำให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกยังมีทิศทางขยายตัว
อัตราการเจริญพันธุ์ของโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากในปี 2513 ที่ผู้หญิง 1 คนมีบุตรจำนวน 4.8 คน เหลือเพียง 2.2 คน ในปี 2568 รวมถึงค่านิยมในการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คู่สมรสทั่วโลกมีบุตรช้าลงสะท้อนจากอายุเฉลี่ยในการคลอดบุตรคนแรกทยอยปรับเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันอยู่ที่ราว 28 ปี เทรนด์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
นอกจากนี้ จากปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลก ยังหนุนการเดินทางออกไปรับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในต่างประเทศ (Fertility Tourism) ให้ขยายตัว
โดยในปี 2566 มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 หรือราว 14% ของมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก 1
ทั้งนี้การเติบโตของตลาด Fertility Tourism ของโลก ส่งผลให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติมากขึ้น
แนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทย ปี 2568 คาดตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทย 2 มีมูลค่ากว่า 6.3 พันล้านบาท เติบโต 6.2% จากปี 2567 โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ลูกค้าชาวไทย มีสัดส่วน 70% ของผู้มาใช้บริการทั้งหมด และลูกค้าชาวต่างชาติอีก 30%
แม้มูลค่าตลาดในปี 2567 มีแนวโน้มโตชะลอจากผลของฐานสูงในปีก่อนหน้าตามค่านิยมคลอดบุตรในปีมังกร แต่มูลค่าตลาดในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นได้โดยเป็นผลมาจากการเดินทางเข้ามารับบริการของชาวต่างชาติที่ขยายตัวสูงกว่าภาพรวมตลาด โดยเฉพาะการรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว 3 ที่คาดว่าจำนวนรอบการรักษาจะเพิ่มขึ้น 5.9% และเป็นวิธีที่ชาวต่างชาตินิยมเนื่องจากอัตราความสำเร็จสูงกว่าวิธีอื่นๆ ส่วนการรักษาด้วยวิธีผสมเทียมที่อัตราความสำเร็จต่ำกว่า
จำนวนรอบการรักษาน่าจะเพิ่มขึ้น 3.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับบริการของชาวไทย ตลาดผู้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากชาวไทยคาดขยายตัว 5.0% ในปี 2568 จากค่านิยมมีบุตรช้าลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์
มูลค่าตลาดชาวไทยที่มีสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดยังโตจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้คู่สมรสชาวไทยนิยมมีบุตรช้าลง สะท้อนจากสัดส่วนการคลอดของสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 35% ในปี 2555 คาดว่าจะขยับมาเป็น 46% ในปี 2568 รวมถึงหลายคู่ประสบภาวะมีบุตรยากจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของฮอร์โมน โรคอ้วน และโรคเครียดจากการทำงาน เป็นต้น
การรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้รับบริการชาวไทย จากสาเหตุการมีบุตรยากมีความซับซ้อนและเกิดจากเพศชายมากขึ้น การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีผสมเทียม (IUI) เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง สะท้อนจากช่วงหลังโควิดจำนวนรอบการรักษาด้วยวิธี IUI มีสัดส่วนลดลงจาก 31% ในปี 2565 คาดว่าจะเหลือเพียง 28% ในปี 2568 เช่นเดียวกับการทำเด็กหลอดแก้วแบบปกติ (IVF) ที่อัตราการเติบโตของรอบการรักษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปี
ขณะที่ การรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้วแบบเฉพาะเจาะจง (ICSI) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี (CAGR ปี 2565-2568) แนวโน้มการรักษาด้วย ICSI ที่โตขึ้นสอดคล้องกับผู้ประกอบการในธุรกิจที่ระบุว่าในระยะหลัง ภาวะมีบุตรยากที่พบในคู่สมรสชาวไทยมีความซับซ้อน และพบว่าเกิดในฝั่งเพศชายมากขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของน้ำเชื้ออสุจิตามพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และความผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วย ICSI ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จะให้อัตราความสำเร็จที่สูงกว่าวิธีอื่นๆ
หากผู้รักษามีภาวะข้างต้น ตลาดผู้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากชาวต่างชาติ มูลค่าตลาดต่างชาติที่เดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก คาดขยายตัว 7.6% ในปี 2568 จากไทยยังมีจุดเด่นด้านราคาและคุณภาพในการบริการ มูลค่าตลาดต่างชาติที่มีสัดส่วนกว่า 45% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ยังมีทิศทางเติบโตเพิ่มขึ้น จากผู้รับบริการในกลุ่มประเทศจีน อินเดีย และอาเซียน ที่นิยมเดินทางเข้ามารักษาภาวะมีบุตรยากในไทย ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษา ภาวะมีบุตรยาก จาก Fertility Tourism ที่มีความโดดเด่นหลายด้านไม่ว่าจะเป็น
- ค่ารักษาพยาบาลยังต่ำกว่าคู่แข่ง การรักษาโดยวิธี IVF ในไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึงสถานพยาบาลไทยที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International (JCI) สูงกว่าหลายประเทศ
- ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ชาวต่างชาตินอกเหนือจากการรักษา เช่น โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร ศูนย์การค้าต่างๆ รวมถึงการออก Medical Treatment Visaให้แก่ผู้มารับบริการชาวต่างชาติที่ต้องพำนักในไทยเพื่อติดตามผลการรักษา
- กลุ่มผู้รับบริการชาวต่างชาติยังเป็นตลาดศักยภาพ สะท้อนจากธุรกิจเน้นทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนผู้รับบริการชาวต่างชาติที่ยังโตต่อเนื่อง
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในไทยเน้นทำการตลาดผ่านออฟไลน์และออนไลน์ หรือตัวแทน (Agent) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้มารับบริการในไทยมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติจะสูงกว่าชาวไทยราว 1 เท่าตัว เนื่องจากต้องมีบริการเสริมอื่นๆเพิ่มเติมในแพ็กเกจการรักษา (ล่าม รถรับส่ง ค่า Commission ฯลฯ)
ดังนั้น การขยายตลาดใหม่ๆ จึงสะท้อนโอกาสสร้างรายได้ส่วนเพิ่มของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนรายได้จากชาวต่างชาติราว 20-30% ของรายได้รวม
โอกาสของธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในระยะข้างหน้า
การผ่อนปรนนโยบายมีบุตรของรัฐบาลจีน จาก 2 คน มาเป็น 3 คน ตั้งแต่ปี 2564 ตามปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยของจีนที่รุนแรงขึ้น รวมถึงแนวโน้มประชากรจีนที่ยังคงลดลงตั้งแต่ปี 2565 ทำให้คาดว่ารัฐบาลจีนจะยังใช้นโยบายนี้ในระยะกลาง-ยาว ส่งผลให้ไทยที่เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวจีน น่าจะได้อานิสงส์ต่อเนื่องจากการบริการภายในประเทศจีนยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น
การเตรียมปรับกฎหมายอุ้มบุญของไทย เช่น การยอมให้ญาติสืบสายโลหิตของภรรยาอายุตั้งแต่ 20-40 ปีสามารถบริจาคไข่ได้ โดยไม่ต้องผ่านการสมรส และการยอมให้ภรรยาอายุ 55 ปีขึ้นไป สามารถรับบริการอุ้มบุญได้ ซึ่งหากมีการปรับแก้สำเร็จ คาดว่าจะมีส่วนหนุนให้การบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ของตลาดคนไทยเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามรายละเอียดของการปรับกฎหมายดังกล่าวว่าจะสามารถเอื้อต่อตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากมากน้อยอย่างไร
การบังคับใช้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในปี 2568 ทำให้ต้องมีการปรับแก้กฎหมายลูกต่างๆ ให้สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเฉพาะการยอมให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีบุตรได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยให้เปิดกว้างมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่ปัจจุบันในไทยมีอยู่ราว 5.9 ล้านคน 4 หรือคิดเป็น 9% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
เทรนด์มีลูกเมื่อพร้อม ดันบริการแช่แข็ง/ฝากไข่เติบโตทั่วโลก สะท้อนจากมูลค่าตลาดบริการแช่แข็ง/ฝากไข่ของโลกที่คาดว่าจะโตเฉลี่ยปีละ 8% (CAGR 2566-2571) สูงกว่าอัตราการเติบโตของบริการอื่นๆ ในตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำให้ไทยอาจแข่งขันในตลาด Fertility Tourism ได้มากขึ้นจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเข้มงวดน้อยกว่าบางคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์มีการกำหนดช่วงอายุสตรีที่รับบริการได้อยู่ระหว่าง 21-37 ปี และมาเลเซียกำหนดให้สตรีโสดที่จะแช่แข็ง/ฝากไข่ได้ต้องไม่ใช่ชาวมุสลิม เป็นต้น
ความเสี่ยงของธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก
การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลกว่า 70% ของผู้ให้บริการทั้งหมด อย่างไรก็ดีรายได้ของธุรกิจยังขึ้นอยู่กับมาตรฐานและอัตราความสำเร็จเป็นสำคัญส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการบริการและต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ เพื่อรักษารายได้และอัตรากำไรในระยะยาว
จำนวนบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากมีจำกัด โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจากยังไม่มีหลักสูตรอุดมศึกษาในไทยที่เปิดสอนด้านนี้โดยตรง ส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการวางแผนกำลังคน จัดฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกำหนดนโยบายค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลน/ย้ายงานของบุคลากรดังกล่าวในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงมาตรการอุดหนุนการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเทศ ของคนไข้ต่างชาติ เช่น ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีการอุดหนุนการทำ IVF ผ่านระบบประกันสุขภาพใน 4 เมือง และไปข้างหน้าก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มอีกทำให้อาจมีผลต่อการตัดสินใจมารับบริการในไทย
นอกจากนี้ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีใหม่ๆที่อาจส่งผลต่ออัตราความสำเร็จและรูปแบบการให้บริการของธุรกิจ