เก็บภาษีธุรกิจข้ามชาติเพิ่มเติม สะเทือนลงทุนบีโอไอ

เก็บภาษีธุรกิจข้ามชาติเพิ่มเติม สะเทือนลงทุนบีโอไอ
“จุลพันธ์” รมช. คลังยอมรับการออก พ.ร.ก.เก็บภาษีธุรกิจข้ามชาติเพิ่มเติม กระทบมาตรการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ ซึ่งเป็นเรื่องที่บีโอไอไปหาทางปรับตัวเอง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เก็บภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับ แก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises (MNEs)) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร ส่งผลกระทบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เนื่องจากได้ลดหย่อนเสียภาษีต่ำกว่าที่ พ.ร.ก. กำหนด ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ ต้องเสียภาษีเพิ่มให้ไม่น้อยกว่าที่ พ.ร.ก. กำหนด ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของทางบีโอไอต้องไปปรับตัวเอง

“ต้องยอมรับว่า พ.ร.ก. ภาษีส่วนเพิ่มกับนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ กระทบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยที่ตกลงมาตั้งแต่เปิดปีใหม่มา” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าว พ.ร.ก. เก็บภาษีส่วนเพิ่มกับนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ เป็นกฎหมายที่ไทยออกตามข้อตกลงของสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย และมีประเทศสมาชิกกว่า 40 ประเทศที่ออกกฎหมายนี้ไปแล้ว การที่ไทยออกกฎหมายนี้ถือเป็นเรื่องดีที่ติดอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ออกกฎหมายให้เกิดความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม

ทั้งนี้ พ.ร.ก. เก็บภาษีส่วนเพิ่มกับนักลงทุนต่างชาติ จะทำให้ไทยเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยนักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายภาษีที่ต้องเสียเพิ่มให้กับประเทศไทย หรือให้กับประเทศต้นทางของตัวเอง ซึ่งในส่วนของไทยจะนำเงินภาษีส่วนหนึ่งที่เก็บได้ไปส่งเสริมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนไทย

รมช.คลัง กล่าวว่า ในวันนี้ (8 ม.ค.นี้) จะมีการภริปราย พ.ร.ก. เก็บภาษีส่วนเพิ่มกับนักลงทุนต่างชาติ ในสภาฯ เพื่อในวันนี้

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร ออกแถลงข่าวว่า การออก พ.ร.ก. เก็บภาษีส่วนเพิ่มกับนักลงทุนต่างชาติ ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษี อันเป็นการรักษาประโยชน์แห่งชาติ หากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จะสูญเสียรายได้ภาษีส่วนเพิ่มที่ควรจัดเก็บได้ให้แก่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับแล้วตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2567 มี 28 ประเทศ เช่น กรีซ เกาหลีใต้ แคนาดา ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ตุรกี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมัน สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อิตาลี ไอร์แลนด์ เวียดนาม และประเทศที่คาดว่าจะมีกฎหมายใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2568 เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 นี้ใช้บังคับเฉพาะกลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย  ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศหรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statements) ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโรอย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตราที่กำหนด เพื่อจำกัดการแข่งขัน     ทางภาษี ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ยกร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD จัดทำขึ้นการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของประเทศไทยจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของนานาประเทศ อันเป็นการลดภาระการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่กลุ่ม MNEs ที่ลงทุนในประเทศไทย

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจะเป็นประโยชน์แก่การส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยบนพื้นฐานของความยั่งยืนทางการคลัง หลังจากนี้กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายลำดับรองกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD กำหนด สำหรับวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การยื่น GloBE Information Return และการแจ้งข้อมูลนั้น กรมสรรพากรจะอำนวยความสะดวกให้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และเพื่อเตรียม ความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่ม กรมสรรพากรจะจัดสัมมนาและจัดทำบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้เสียภาษีและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาภาษีและผู้สอบบัญชี จึงขอให้ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์และสื่อสังคมของกรมสรรพากร”

TAGS: #ภาษีธุรกิจข้ามชาติ