จุฬาฯ เร่งพัฒนา ClulaGENIE สร้างแพลตฟอร์ม Adopt AI สัญชาติไทยนำร่องใช้ภายในก่อนต่อยอดเชิงสาธารณะหวัง 6-12 เดือนหน้า พร้อมสร้าง ‘คน’ สู่ตลาดแรงงานโลกต้องการ 10 ทักษะใหม่นี้
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯ มุ่งสุ่การเป็น ‘The University of AI’ มหาวิทยาลัยแห่งปัญญาประดิษฐ์ โดยจะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ Non-Degree หรือ หลักสูตรประกาศนียบัตร เน้นพัฒนาทักษะเฉพาะทาง หรือความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบในระดับปริญญา ให้ผู้เรียนเลือกเฉพาะวิชาที่สนใจ หรือกลุ่มวิชาที่ต้องการพัฒนาความรู้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงาน หรือการพัฒนาตนเองได้ทันที ใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 6-7 เดือนให้กับผู้สนใจสาขาเฉพาะในรายคณะการศึกษา ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคน ต่อยอดจากเดิมในหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือ ปริญญาโท ใช้ระยะเวลาเรียน 4 ปีและ 2ปี แต่จากเข้ามาของเอไอ จำเป็นต้องปรับทักษะใหม่ควบคู่กันไปแบบเฉพาะทางให้ผู้เรียนในรายคณะการศึกษาต่างๆ มีความรู้แบบองค์รวม (Holistic) มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialist) เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานใหม่ในอนาคต
พร้อมกันนี้ จุฬาฯ ยังเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยร่วมกับ World Economic Forum (WEF) ในการเสนอแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในระหว่างปี พ.ศ. 2568–2573 ประกาศ The Future of Jobs 2025 ชี้ทักษะแห่งอนาคต พร้อมแนะกลยุทธ์สร้างมนุษย์แห่งอนาคต (Future Human) สำหรับประเทศไทย
รายงานนี้ อ้างอิงจากการสำรวจกว่า 1,000 บริษัท ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน ใน 22 อุตสาหกรรม จาก 55 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลการวิเคราะห์ที่สำคัญดังนี้
- ตำแหน่งงานใหม่ 170 ล้านตำแหน่ง จะเกิดขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม
- 92 ล้านตำแหน่งงาน จะหายไป เนื่องจากระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
- การเติบโตสุทธิของการจ้างงานคิดเป็น 7% หรือเท่ากับ 78 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก
ขณะที่ 5 ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการในไทย ดังนี้
- ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data
- วิศวกรด้าน Fintech
- ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI
- นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการและความปลอดภัย
ส่วน 5 ตำแหน่งงานที่จะหายไป ดังนี้
- เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์
- พนักงานธนาคารและตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง
- เจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูล
- พนักงานแคชเชียร์และพนักงานจำหน่ายตั๋ว
- ผู้ช่วยด้านงานธุรการและเลขานุการบริหาร
สำหรับ ปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานในปี 2573 โดยเรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และนวัตกรรมด้านพลังงานเป็นปัจจัยหลักที่เปลี่ยนแปลงบทบาทงานและทักษะ
2. การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นความต้องการวิศวกรสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน
3. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นความท้าทายสำคัญ
4. การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ประชากรสูงอายุในประเทศรายได้สูงและแรงงานขยายตัวในประเทศรายได้ต่ำปรับเปลี่ยนตลาดแรงงาน
5. การแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ข้อจำกัดทางการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจ
ขณะที่ 10 ทักษะในอนาคตของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2573 ประกอบด้วย
- ทักษะด้าน AI และ Big Data
- Analytical thinking ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
- Creative thinking ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์
- Networks and cybersecurity ทักษะด้านเครือข่าย และความปลอดภัยทางข้อมูล
- Leadership and social influence มีความเป็นผู้นำ และสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้
- Resilience, flexibility and agility ปรับตัวไว ทำงานอย่างยืดหยุ่น และคล่องตัว
- Empathy and active listening มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะในการรับฟัง
- Motivation and self-awareness มีความเข้าใจตนเอง และมีแรงจูงใจในการทำงาน
- Talent management ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร
- Curiosity and lifelong learning มีความช่างสงสัย ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต
พร้อมกันนี้ยังได้เสนอกลยุทธ์สำคัญ 4 ประการสำหรับประเทศไทย ดังนี้
- สร้างการเปลี่ยนแปลง แบบ Holistic Skill Change:ยกเครื่องการ upskill ของบุคลากรในมิติไม่ใช่ทักษะใดทักษะหนึ่งเท่านั้น
- สร้างองค์กร ให้เป็น Future-Ready Organization: มีระบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบุคลากร
- Human Replacement: งานที่ซ้ำชากควรเลิกใช้คนและทดแทนด้วยระบบ Automation
- Enhancing Dynamic Work Role: มีการส่งเสริมให้ไม่ยึดติดกับบทบาทการทำงานในแบบเดิมๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ เสริมว่าพร้อมกันนี้ จุฬาฯ ยังร่วมกับกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) พัฒนา ChulaGENIE แพลตฟอร์มเจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) สำหรับสนับสนุนการทำงานของบุคลากรภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเปิดทดลองใช้ในเบื้องต้นไปเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในอนาคตยังมีความเป็นไปได้ในการต่อยอดแพลตฟอร์มฯ นี้เพื่อเปิดให้บริการเชิงสาธารณะด้วยภายในระยะเวลา 6-12 เดือนข้างหน้า นับจากนี้
“นอกจากทักษะด้านการใช้งานหรืออด็อปต์เอไอในฐานะยูสเซอร์แล้ว ประเทศไทยควรต่อยอดไปสู่การเป็นเจ้าของหรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนในรอบด้านตามเทรนด์โลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ทิ้งท้าย