ค่าเงินบาทเช้านี้ เปิดตลาด 34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย

ค่าเงินบาทเช้านี้ เปิดตลาด 34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย
Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผย ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.66 บาทต่อดอลลาร์”อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.59 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.30-35.10 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.80 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.52-34.79 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทดสอบโซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ จริง ตามที่เราได้ประเมินไว้ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ตามรายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นกว่า 2.56 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานก็ลดลงเหลือ 4.1% ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเพียง 15% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ ลดลงจากที่ผู้เล่นในตลาดได้ให้โอกาสถึง 70% ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง จากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) สู่โซน 2,690-2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 4.75% (ตามที่เราประเมินเผื่อไว้เช่นกัน) ทำให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวลงหนัก อาทิ Nvidia -3.0%, Apple -2.4%

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากธีม US Exceptionalism หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ส่วน เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็อ่อนค่าลงหนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และแรงขายสินทรัพย์ไทย แต่เงินบาทยังพอได้แรงหนุนบ้าง ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ

สำหรับในสัปดาห์นี้ ธนาคารมองว่า ผู้เล่นในตลาดควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้

แนวโน้มของค่าเงินบาท ธนาคารมองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ จะยังคงเพิ่มความเสี่ยงความผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ซึ่งทิศทางเงินบาทจะขึ้นกับรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาทองคำ รวมถึงแนวโน้มเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษและจีนด้วยเช่นกัน ทว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน โดยจะต้องจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสได้แรงหนุนจากธีม US Exceptionalism บ้าง ทว่าการแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพียงราว 15% หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแข็งแกร่ง ทำให้เรามองว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาแย่กว่าคาดบ้าง ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ทว่า หากรายงานผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งอาจลดทอนความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อรับมือความผันผวนในตลาดการเงิน

ธนาคารคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.30-35.10 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-34.80 บาท/ดอลลาร์

TAGS: #ค่าเงินบาท #เงินบาท #KrungthaiGLOBALMARKETS