แบรนด์สมาร์ทโฟนจีน อาจถูกท้าทายวิกฤตศรัทธา? ติดตั้งอัตโนมัติแอปฯให้สินเชื่อ ในยุค AI

แบรนด์สมาร์ทโฟนจีน อาจถูกท้าทายวิกฤตศรัทธา? ติดตั้งอัตโนมัติแอปฯให้สินเชื่อ ในยุค AI
ในวันที่โลกก้าวเข้าสู่ 'ยุคเอไอ' ที่พร้อมเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างในโลกออนไลน์ อาจทำให้ ‘ความเป็นส่วนตัว’ กลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความหวงแหนเป็นอย่างมาก

กรณี OPPO แบรนด์สินค้าเทคโนโลยีจีน ถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการติดตั้งแอปสินเชื่อเงินสดอัตโนมัติในสมาร์ทโฟนของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจกลายเป็นประเด็นร้อนกระทบทั้งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นผู้บริโภค

 

ออปโป้ (OPPO) แบรนด์ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีจากประเทศจีนได้เข้าสู่ตลาดในไทยเป็นครั้งแรกในปี 2008 หรือ ราว15 ปีก่อน ซึ่งมาพร้อมการนำเสนอวัตกรรมล้ำหน้า ที่ใช้เป็น ‘จุดขาย’ สู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีมากกว่าธุรกิจสมาร์ทโฟน ผ่านการเปิดตัวสินค้าด้วยกลยุทธ์การทำตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคชาวไทย จนได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

จากความสำเร็จของแบรนด์ ‘ออปโป’ กว่าทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนได้ชัดจากความตั้งใจในการทำตลาดสมาร์ทโฟน OPPO ทั้งรุ่นและซีรีส์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่แตกต่างกัน ทั้งการออกแบบ กล้อง คุณสมบัติพิเศษ และราคา ในฐานะ สมาร์ทโฟนพีเจอร์จัดเต็มระดับกลาง ตามตำแหน่งทางการตลาดที่ได้วางไว้ 

 

ทำให้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมานี้ OPPO ได้สร้างชื่อเสียงในฐานะแบรนด์เทคโนโลยีระดับโลกที่โดดเด่นในนวัตกรรมและดีไซน์

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หริอ เอไอ (AI) OPPO AI ด้วยการพัฒนาชิป AI เช่น MariSilicon X เพื่อเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพของ AI ในสมาร์ทโฟน ตลอดจนการสร้างประสบการณ์เอไอให้กับผู้ใช้งานในด้านต่างๆ ในแบบส่วนตัวและเหมาะสมกับพฤติกรรมของแต่ละคน ตามนโยบายออปโป้ ระดับโลก ได้ตั้งเป้าผู้ใช้งานเข้าถึง OPPO AI 50 ล้านคนในปลายปี 2024 ที่ผ่านมา

ด้วยการทำตลาดสมาร์ทโฟนในรุ่น OPPO Reno12 Series 5G ทั้ง 3 โมเดล ได้แก่ OPPO Reno12 F 5G, OPPO Reno12 5G และ OPPO Reno12 Pro 5G

ขณะเดียวกับที่ในต้นปี 2025 นี้ ออปโป้ ได้เตรียมแผนจะเปิดตัว OPPO AI Phone รุ่นล่าสุด ในงาน 'OPPO Reno13 Series 5G พร้อมด้วยอุปกรณ์ IoT ในวันที่ 14 มกราคม นี้

ทว่าอีเวนต์ ดังกล่าวได้ถูกแจ้งยกเลิกผ่านตัวแทนฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้ชี้แจงผ่านสื่อเพื่อเลื่อนการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสินค้าแบบกระทันหันก่อนงานเริ่มเพียง 15 นาทีในวันเดียวกัน จากกรณีต่อเนื่องหลังมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนออปโป และ เรียลมี (Realme) หนึ่งในแบรนด์ลูกของ Oppo ได้พบแอปพลิเคชั่นสินเชื่อความสุข Fineasy ให้บริการเงินสดอัตโนมัติ ติดตั้งอยู่ในเครื่องของตนเอง มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

และในวันเดียวกันดังกล่าว OPPO ได้ทำหนังสือชี้แจงพร้อมยุติติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าของแอปฯ สินเชื่อของบุคคลที่สาม (Third Party Application) ทั้งหมดในอุปกรณ์ของ OPPO พร้อมแจงไทม์ไลน์การทำงารร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการทันทีดังนี้

  • ในช่วงเย็นวันที่ 13 มกราคม 2568 แอปพลิเคชัน Fineasy ได้ออกประกาศภายในแอปฯ เพื่อระงับการให้บริการแล้วเป็นที่เรียบร้อย
  • ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอป Fineasy ล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป
  • ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจะได้รับการอัปเดต OTA (Over-the-Air) ซึ่งเป็นเวอร์ชันระบบใหม่ที่ไม่มีการติดตั้งแอปฯ Fineasy อีกต่อไป
  • ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมเป็นต้นไป จะหยุดการติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าของแอปฯ สินเชื่อของบุคคลที่สามทั้งหมดในอุปกรณ์ของ OPPO

อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีที่เกิดขึ้น กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ได้ออกมาระบุว่า เคสดังกล่าวเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในกรณี OPPO และ Realme ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ได้ติดตั้งแอปฯสินเชื่อได้สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก และนำไปสู่การที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เรียกบริษัทสมาร์ทโฟนทั้ง 2 แบรนด์ไปชี้แจง

ด้วยประเด็นที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ หากมองในมุมของการตลาดแล้วยังอาจส่งผลกระทบต่อแบรนด์สินค้าดังกล่าว ทั้งด้านการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานผ่านการติดตั้งแอปฯ สินเชื่อโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้

รวมถึงความไม่โปร่งใส หากแอปฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขโทรศัพท์ รายชื่อผู้ติดต่อ หรือประวัติการใช้งาน ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยข้อมูล

และสุดท้าย ภาพลักษณ์แบรนด์ OPPO อาจถูกมองว่าให้ความสำคัญกับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นแบรนด์ให้ลดลง จากเดิมที่ผู้บริโภคไว้วางใจในแบรนด์และอาจลังเลที่จะซื้อสินค้าของ OPPO ต่อไปในอนาคต

สุดท้าย หากไม่มีการจัดการปัญหานี้ได้อย่างเหมาะสมต่อกระแสสังคมที่ตั้งคำถามถึงเจตนาการติดตั้งแอปฯ ในเครื่องสมาร์ทโฟนในครั้งนี้ ได้แบบหมดข้อกังขาแล้ว ก็อาจสร้างความไม่สบายใจที่มีต่อสินค้าเทคโนโลยีแบรนด์จากจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยกับผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่ห่วงแหนความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างมากในปัจจุบัน 

และมีข้อสงสัยถึงความโปร่งใสของผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาใน 'ยุคเอไอ' ที่พร้อมเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างในโลกออนไลน์  ด้วยเช่นกัน  

ล่าสุดในวันนี้ (17 ม.ค.) คณะผู้บริหารออปโป้ ประเทศไทย นำโดย 'ชานนท์ จิรายุกุล' ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร ออปโป้แห่งประเทศไทย ได้ออกมากล่าวแสดงความเสียใจในเหตุการที่เกิดขึ้น พร้อมยอมรับว่ามีการติดตั้งแอปสินเชื่อล่วงหน้า โดย ออปโป้ ได้ดำเนินการเร่งด่วนพร้อมร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลให้มีมาตรการ กรณี แอป Fineasy ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. และยุติการติดตั้งทั้งหมดในโทรศัพท์มือถือ รวมถึงยุติการติดตั้งแอปสินเชื่ออื่นลงในเครื่องและตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา พร้อมส่ง OTA ให้ลูกค้าเพื่อลบแอปได้เองแล้ว 

ขณะที่การดำเนินการด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ข้อมูลของลูกค้าที่อยู่บนคลาวด์ได้ถูกลบไปแล้ว ส่วนข้อมูลในเครื่องลูกค้าสามารถลบได้ทันที  เนื่องจากผู้พัฒนาแอปคือบุคคลที่สาม ออปโป้จึงไม่ได้เก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ ออปโป้ยืนยันที่จะไม่ติดตั้งแอปล่วงหน้าอีกต่อไป

สำหรับมาตรการช่วยเลือผู้ได้รับผลกระทบ ออปโป้ ขอให้สัญญาที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายโดยได้ดำเนินการเปิดสายด่วนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 1800 019097

TAGS: #OPPO #ออปโป #เรียลมี #realme