ทรัมป์ 2.0 คุมราคาน้ำมัน-ก๊าซทรงตัว ลุ้นค่าไฟไทยไม่ขยับ

ทรัมป์ 2.0 คุมราคาน้ำมัน-ก๊าซทรงตัว ลุ้นค่าไฟไทยไม่ขยับ
จับตาประกาศภาวะฉุกเฉินพลังงานแห่งชาติสหรัฐ พึ่งพาตัวเองหาแหล่งน้ำมัน-ก๊าซกดราคาถูกลง มองนิวเคลียร์-โซลาร์เซลพลังงานทางเลือก เลิกหนุนรถ EV

ภายหลัง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เสร็จสิ้นพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47  การกล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในเรื่องสำคัญของนโยบายคือการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติมีเป้าหมาย เพื่อปรับลดราคาพลังงานในสหรัฐ  โดยเพิ่มการขุดเจาะน้ำมัน วางท่อน้ำมัน และตั้งโรงกลั่นน้ำมัน  เพื่อมีแหล่งพลังงานของตัวเอง  นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานแบบสุดขั้วเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันช่วงเช้าปรับตัวลดลง  โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.พ.68 ร่วงลง 1.04 เหรียญสหรัฐ แตะที่ระดับ 76.84 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า นโยบายพลังงานที่ประกาศออกมาเป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ตามที่ทรัมป์ไปหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา เป้าหมายหลักคือต้องการให้สหรัฐพึ่งพาตัวเองทางพลังงาน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการแหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อกดดันให้ราคาพลังงานถูกลง พร้อมทั้งปลดล็อกกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยจะเดินหน้าขุดเจาะแหล่งพลังงานเต็มที่ทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ขณะเดียวกันอนุญาตให้สามารถการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกทรงตัว ไม่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน และหากผลักดันให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจบลงได้อย่างสันติ เงื่อนไขการบอยคอต หรือแซงก์ชั่นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสู่ยุโรปอาจได้รับการผ่อนปรน น้ำมันดิบของรัสเซียอาจออกสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้มี Supply เติมเข้ามาอีก จนมีผลให้ราคาน้ำมันดิบ และ LNG ที่อาจอ่อนตัวลงในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้

ข้อดีสำหรับไทยก็คือ ราคาน้ำมันไม่สูง ราคาแอลเอ็นจีไม่แพง จะมีผลต่อต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ช่วยให้รัฐบาลไม่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าได้ ในอนาคตได้

สำหรับการส่งเสริมพลังงานทางเลือก สหรัฐจะเลือกส่งเสริมเฉพาะสิ่งที่สามารถนำนวัตกรรมของสหรัฐมาใช้กับสิ่งที่ก่อให้เกิดงานในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ขณะที่พลังงานลมและพลังงานจากไฮโดรเจน อาจถูกลดการให้เงินอุดหนุน หรือลดการส่งเสริมลงจากการงดให้เครดิตด้านภาษี 

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EV) ยกเลิกกฎควบคุมไอเสียจากรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ออกใหม่ของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) เนื่องจากต้องการให้ EV เป็นทางเลือกของผู้บริโภคโดยสมัครใจ และไม่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ICE ที่มีการจ้างงานคนจำนวนมากต้องล่มสลาย นอกจากนี้มีแนวโน้มที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีนให้สูงขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้เพื่อให้นโยบายของเขาเดินหน้าได้ นายทรัมป์ได้ตั้งคนมาทำงานสนับสนุนนโยบายเป็นที่เรียบร้อย  คือ แต่งตั้ง นายลี เซลดิน (Lee Zeldin) อดีต ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐนิวยอร์ก ให้เป็น ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์กร Environmental Protection Agency : EPA) ซึ่งจะถูกมอบหมายให้รื้อ-ปลดอุปสรรคกฎหรือระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลกลาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตและใช้พลังงาน/เชื้อเพลิงจากฟอสซิล รวมถึงผ่อนปรนมาตรฐานปล่อยไอเสียจากรถยนต์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine : ICE)

ส่วนรัฐมนตรีพลังงาน นายคริส ไรท์ ซีอีโอของบริษัท ลิเบอร์ตี เอ็นเนอร์จี ผู้ให้บริการด้านบ่อน้ำมันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ซึ่งบริษัทนี้ให้บริการแยกหินด้วยแรงดันน้ำให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฯโดยนายไรท์จะเข้าร่วมงานในฐานะหนึ่งในสมาชิกของสภาพลังงานแห่งชาติ เป็นโครงสร้างที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะดูแลการใช้พลังงานของสหรัฐ โฟกัสไปที่การอำนวยความสะดวกในการลงทุนของภาคเอกชนมากกว่าที่จะให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลที่ไม่จำเป็น โดยมุ่งเน้นเป้านวัตกรรมเป็นสำคัญ

ขณะที่ นายดั๊ก เบอร์กัม (Douglas Burgum) ผู้ว่าการรัฐจาก North Dakota ซึ่งเป็นนักธุรกิจและสนับสนุนนโยบายเพิ่มการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะมาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยและประธานสภาพลังงานแห่งชาติที่จะมีบทบาทใหม่ในการบริหารแผนงานของคณะทำงาน เพื่อดูแลกฎเกณฑ์ด้านสภาพอากาศ ยกเลิกเงินสนับสนุนพลังงานสะอาด และส่งเสริมการผลิตน้ำมันและก๊าซฯทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามมองภาพรวมผลกระทบจากการประกาศภาวะฉุกเฉินพลังงานชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ มีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับไทย ราคาน้ำมัน และ LNG  อยู่ในระดับทรงตัว ไม่สูงกว่าปัจจุบัน ยกเว้นไม่เกิดสงครามขึ้นมาก่อน ขณะที่เป้าหมายการหาแหล่งพลังงานผลักดันให้บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะรายใหญ่ของสหรัฐกลับมาคึกคัก

ด้านพลังงานทางเลือก ไฮไลท์ เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซล)จะเป็นทางเลือกที่สหรัฐนำเสนอในเวทีโลกเพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก มากขึ้นกว่าเดินตามแนวยุโรปที่ต้องการพลังงานสีเขียว

 

TAGS: #ทรัมป์ #นิวเคลียร์ #โซลาร์เซล #พลังงานทางเลือก #EV