ผู้บริหารแบงก์ซีไอเอ็มบี มอง ยุคทองของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว จาก 4 ปี ภายใต้ทรัมป์ 2.0 จะเห็นโลกและภูมิเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย โพสต์เฟสบุ๊ก อมรเทพ จาวะลา ระบุว่า
ยุคทองของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว - ทรัมป์สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 พร้อมวลีเด็ดนี้ในการปราศัยรับตำแหน่ง พร้อมส่งสัญญาณว่า นโยบายต่างๆ หลังจากนี้จะต้องให้สหรัฐมาก่อนเป็นที่หนึ่ง หรือ America First เหมือนจะตอกย้ำว่า ถ้าอะไรที่ไม่แฟร์กับคนอเมริกัน ทรัมป์จะไม่ทน เห็นได้จากการเตรียมถอนตัวจาก WHO หรือองค์กรอนามัยโลก ต่อเนื่องด้วย Paris Climate Agreement หรือข้อตกลงลดโลกร้อน นี่อาจลามไปสู่การถอนตัวจาก WTO หรือ NATO ได้ แต่ลึกๆ ผมคิดว่าทรัมป์ขู่เพื่อจะให้ประเทศอื่นจ่ายเงินสมทบแทน เหมือนทุกวันนี้สหรัฐจ่ายหนักอยู่คนเดียวและไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร รอดูการเจรจากันต่อไป
แล้ววันนี้ทรัมป์พูดอะไร ผมมองว่าทรัมป์เตรียมออกคำสั่งฝ่ายบริหารหรือ Executive Order ในด้านความมั่นคงและภาคต่างประเทศตามอำนาจประธานาธิบดีอยู่ 3 เรื่อง
1. ภาวะฉุกเฉินด้านพรมแดน - ทรัมป์เตรียมส่งทหารไปตอนใต้ของสหรัฐหรือพรมแดนกับแม็กซิโก เพื่อขับไล่ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย รวมถึงผู้ค้ายาเสพติดอะอาชญากรอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้ยังต้องดูกันต่อว่าจะกระทบตลาดแรงงานสหรัฐอย่างไร เพราะคนกังวลว่าสหรัฐจะขาดแคลนแรงงาน และทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นอีก
2. ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน - ทรัมป์ต้องการแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการลดราคาพลังงาน และแน่นอนว่าจะแก้ได้ไม่ยากหากปล่อยให้มีการขุดเจาะน้ำมันใต้ดินสหรัฐ ขุดให้เต็มที่เลย (Drill, baby drill) พร้อมมองว่าการจะสร้างภาคการผลิตของประเทศให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งนั้น สหรัฐจะต้องใช้น้ำมันราคาถูก และเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ สหรัฐจะต้องส่งออกน้ำมันดิบให้มากขึ้น ผมมองว่า ทรัมป์จะแก้ปัญหาขาดดุลการค้าด้วยการบีบให้ประเทศอื่นนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐ อย่างน้อยก็น่าทำกับชาติยุโรป และให้ยุโรปลดการนำเข้าจากรัสเซีย ส่วนการยกเลิกการบังคับใช้รถยนต์ไฟฟ้าและสนับสนุนรถยนต์สันดาบก็เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ ใครจะคิดว่า Petro Dollar รอบนี้จะเป็นการซื้อนำ้มันด้วยดอลลาร์ตรงจากสหรัฐ บทบาทเงินดอลาร์ยังเข้มแข็งอยู่
3. ทรัมป์เตรียมจัดตั้งหน่วยงานจัดเก็บภาษีจากนอกประเทศ (External Revenue Service ERS) เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐบาล แม้มีข่าวว่าทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้า 25% กับแคนาดาและแม็กซิโก และ 60%กับจีน แต่ในวันนี้ ทรัมป์ยังไม่ได้ระบุว่าจะเก็บกับใครและเท่าไหร่ อาจใช้จังหวะนี้ในการเร่งเจรจา หรือหาหลักฐานว่าประเทศเหล่านี้ทำการค้าไม่เป็นธรรม เช่นมีการอุดหนุนสินค้าของตัวเอง มีการทุ่มตลาด หรือบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งตลาดทุนสบายใจในระยะสั้นว่ายังไม่มีการจัดเก็บภาษีวันนี้ ดอลลาร์เลยอ่อนค่า บอนด์ยิลด์ย่อลง บาทแข็ง ราคาน้ำมันลง ราคาทองนิ่งๆ
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเตรียมเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครน หรือย้ำการหยุดยิงในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งมองว่าเป็นการลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่ก็อาจมีเรื่องให้ปวดหัวได้จากการกล่าวถึงว่าจะเปลี่ยนชื่ออ่าวแม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกา หรือการขอคืนคลองปานามา ที่ทรัมป์กล่าวว่านั่นควรเป็นของสหรัฐและจีนกำลังมีบทบาทในที่แห่งนั้น
ทรัมป์ 2.0 เมื่อสงครามการค้ากำลังลามเป็นสงครามเศรษฐกิจ
หากอ่านใจทรัมป์ได้ ผมว่าทรัมป์จะคิดว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงของประเทศ” นั่นคือ เขาจะต้องทำทุกทางเพื่อให้สหรัฐยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจและไม่ถูกคุกคามหรือเอาเปรียบ
เป้าหมายทรัมป์คือการลดการขาดดุลการค้า ในรอบแรก ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการลดการขาดดุลการค้ากับจีน แต่สหรัฐกลับขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นในภาพรวมและขาดดุลกับแม็กซิโก เวียดนาม เยอรมนี รวมทั้งไทยก็เป็นประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าด้วยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ซึ่งรอบนี้ทรัมป์อาจเก็บภาษีนำเข้ากับทุกชาติ เพื่อลดการนำเข้าและบีบให้ประเทศเหล่านี้นำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทรัมป์จะดึงดูดให้บริษัทและโรงงานย้ายฐานกลับสหรัฐด้วยการลดภาษีนิติบุคคลและลดกฏระเบียบต่างๆ หวังให้สหรัฐลดการนำเข้าในที่สุด
แต่สหรัฐยังต้องการแก้ปัญหาที่บริษัทสหรัฐไม่สามารถเข้าถึงตลาดอื่น โดยเฉพาะจีน เช่น Google Amazon Facebook ยังไม่สามารถเจาะตลาดจีนได้ เหมือนไม่แฟร์ที่บริษัทจีนเข้าถึงผู้บริโภคสหรัฐได้ง่าย เช่น TikTok จนต้องขู่ว่าจะแบนกันเลย เรื่องนี้คงต้องแก้กันต่อไป
แต่หลังจากนี้อีก 4 ปี เราคงได้เห็นรูปแบบสงครามเศรษฐกิจที่ไปไกลกว่าสงครามการค้า ภายใต้ทรัมป์ 2.0 โลกน่าจะถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ระหว่างสหรัฐและจีน โดยสหรัฐน่าจะลดการเชื่อมโยงกับจีนอย่างมียุทธศาสตร์ หรือ Strategic Decoupling เช่น ห้ามบริษัทสหรัฐลงทุนด้านเทคโนโลยีกับจีน โดยเฉพาะด้าน AI การที่สหรัฐจะผลิตชิ้นส่วนด้านการทหารเอง โดยไม่ใช้ส่วนใดๆจากจีน หรืออย่างน้อยถ้าผลิตไม่ได้ก็จะใช้จากชาติพันธมิตรกับสหรัฐ สหรัฐจะไม่ส่งออกสินค้าด้านเทคโนโลยีให้จีนและอาจลามไปขู่ชาติอื่นให้ทำตาม สรุปง่ายๆ สหรัฐต้องการโดดเดี่ยวจีน ทำให้จีนลดอิทธิพลในเวทีโลก แต่จีนคงไม่เป็นผู้ดูอยู่ฝ่ายเดียว เราคงเห็นความพยายามของจีนในการมีอิทธิพลในเอเชียมากขึ้น
ส่วนไทยเราต้องวางยุทธศาสตร์ให้ชัด เราเป็นมิตรได้กับทั้งคู่ ค้าขาย ลงทุนได้ แต่ต้องระวังจีนมาสวมสิทธิ์การผลิตไทย แนะบริษัทไทยตั้งรับด้านการทำข้อมูลด้าน local content หรือสัดส่วนสินค้าที่ผลิตในประเทศ และจับตาจีนทุ่มตลาด ขณะเดียวกันเราต้องเตรียมรับมือสหรัฐขึ้นภาษีไทย กระทบการค้าและการลงทุน สุดท้ายไทยน่าร่วมมือกับอาเซียนที่จะมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ในการจำกัดสินค้าจีนและต่อรองด้านภาษีนำเข้าจากสหรัฐ
แต่ที่แน่ๆ จากนี้อีก 4 ปี ภายใต้ทรัมป์ 2.0 เราคงเห็นโลกและภูมิเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป