ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.71 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.55-33.75 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น จากคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เตรียมจะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 แม้ว่า เงินยูโรจะสามารถแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) 25bps สู่ระดับ 2.75% ตามคาดก็ตาม อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังไม่สามารถกดดันเงินบาทได้มากนัก เนื่องจากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้ (New All-Time High) ท่ามกลางความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยรับมือความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์บ้าง ทว่าเงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ทำให้เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เงินบาทเสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility โดยเงินบาทเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ หากผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งอาจกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงได้ ทว่าในกรณีดังกล่าว หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง ก็อาจพอช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำได้บ้าง ทำให้เรามองว่า ในช่วงนี้ อาจต้องติดตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้
นอกจากนี้ เรามองว่า ควรจับตาแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกรณีที่ สหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน
ทั้งนี้ เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวนโดยเฉลี่ย +0.10%/-0.23% (เงินบาทมักจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าอ่อนค่า) ได้ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ)