จับเทรนด์ดีมานด์น้ำมันลดมุ่งพลังงานสะอาด กระทบโรงกลั่นถึงจุด Sunset

จับเทรนด์ดีมานด์น้ำมันลดมุ่งพลังงานสะอาด กระทบโรงกลั่นถึงจุด Sunset
สนพ.ชี้ทั่วโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด ทั้งรถ EV  ไบโอพลาสติก ส่งผลโรงกลั่นน้ำมันต้องรีบปรับตัว  ด้านแผนพลังงานชาติรอรัฐบาลใหม่เคาะก.ย.นี้

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า ในอนาคตธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันทั้งในต่างประเทศและไทย จำเป็นต้องมีการปรับตัวเนื่องจาก ความต้องการใช้น้ำมัน มีแนวโน้มที่ลดลงหรือเข้าสู่จุดได้รับความนิยมลดลงจากตลาดผู้บริโภค(Sunset)

ทั้งนี้เป็นผลจากทั่วโลกต่างมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ลดการเกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันฯในไทยจึงต้องเร่งปรับตัวรองรับกับแนวโน้มธุรกิจโรงกลั่นที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมี 3 แนวทางหลักคือ 1. ดำเนินธุรกิจปกติแต่อาจไปไม่รอด  2. ควบรวมธุรกิจกันด้วยกัน และ 3.ขายโรงกลั่นหรือรับจ้างผลิตแทน โดยนำเข้าน้ำมัน

อย่างไรก็ตามในแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง  ที่ทางกรมธุรกิจน้ำมัน อยู่ระหว่างการจัดทำนั้น ได้ประเมินไว้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามากขึ้น ในหลักการความต้องการใช้น้ำมัน จะลดลง ขณะที่เอทานอลที่ใช้ผสมผลิตแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล (บี100) ที่ผสมผลิตดีเซลจะใช้ลดลงตามไปด้วย โดยได้เชิญทางโรงกลั่นน้ำมันและ ผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือกันแล้วถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น

“เข้าใจว่าโรงกลั่นทราบถึงเทรนด์ของธุรกิจ ซึ่งอนาคต แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันจะเป็นทิศทางไหน โดยในส่วนของเอทานอลและบี100 แม้การใช้ในน้ำมันจะลดลง แต่จะกลับมาใช้เพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพกันมากขึ้น ทั้งไบโอเจ็ท  หรือการนำไปผลิตพลาสติกชีวภาพ  และอาจทำให้เอทานอลขาดแคลน ได้เพราะอนาคต อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอเป็นพื้นฐานการผลิตแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล”

นายวัฒพงษ์ กล่าวถึง การจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ(National Energy Plan) ที่ประกอบด้วย 5 แผนย่อยได้แก่   1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2023) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยแผนย่อยแต่ละกรมฯที่รับผิดชอบกำลังจัดทำอยู่ซึ่งส่วนใหญ่ใกล้เสร็จแล้ว

สำหรับแผนพลังงานชาติ จะเป็นแผนหลักของการจัดการด้านพลังงานทั้งหมด มีการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะเชื่อมกับแผนย่อยต่อไป  ซึ่งสศช.ต้องการให้ทำแผนปฏิบัติ(Action Plan)ในระยะ 5 ปีแรก (ปี 66-70)และมุ่งตอบโจทย์ลดก๊าซคาร์บอนฯควบคู่กับภารกิจของกระทรวงฯที่ต้องมองทั้งความมั่นคง ประสิทธิภาพ และสิ่งแวดล้อม

ส่วนแผนPDP2023  มีความล่าช้าจากเดิมที่ควรจะเสร็จช่วงสิ้นปี 2565 เนื่องจากรอฟังศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไม่ถึง 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางสนพ.กำลังจัดทำ โดยวางแนวทางเป็น scenario เพื่อเปิดรับฟังความคิดเป็นจากทุกส่วนได้ช่วงเดือนมิ.ย. 2566  รวมถึงแผน AEDP และ EEP หลังจากนั้นแผนทั้งหมดจะเสนอรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือนก.ย.2566

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสนพ. กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้นโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ และจะควบคู่ไปกับระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage Systen )เพื่อความมั่นคง อย่างไรก็ตามในไทยขณะนี้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจำนวนมากโดยส่วนหนึ่งมาจากค่าไฟฟ้าที่แพง แต่ยอมรับว่าขั้นตอนการพิจารณายังมีความล่าช้าทำให้มีโครงการค้างท่ออยู่จำนวนมาก โดยภาครัฐอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา

 

TAGS: #โรงกลั่นน้ำมัน #พลังงานสะอาด #แผนพลังงานชาติ