ธนจิรา กรุ๊ป สู่ปีที่ 15 จากธุรกิจเครื่องประดับแบรนด์แรก ‘แพนโดร่า’ ถึงปัจจุบันมีสินค้าหลากหลายแบรนด์ใน 4 พอร์ตธุรกิจ โดยแผนปี68 ขอปรับสมดุลแบรนด์สินค้าใหม่ รับมือลูกค้าแฟชั่นที่พร้อมสวิทช์แบรนด์
ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ผ่านมาได้ส่งแรงกระเพื่อมถึงในปี 2568 นี้จากบรรยากาศและกำลังซื้อภาพรวมในประเทศชะลอตัว ส่งผลต่อการจับจ่ายสินค้ากลุ่มแฟชั่นในบางตลาด โดยบริษัทฯ ได้วาง 3 แนวทางการทำธุรกิจ ดังนี้
- มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารแบรนดิงในพอร์ตธุรกิจไปยังกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคในตลาด
- การปรับตัวธุรกิจเพื่อบริหารความเสี่ยงและกระจายการลงทุน
- การทำงานเชิงรุกเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆของผู้บริโภค
ล่าสุดบริษัทฯ รับสิทธิ์นำเข้าแบรนด์แฟชั่น MM6 Maison Margiela จากฝรั่งเศสเพื่อขยายตลาดแฟชั่นในผู้บริโภคชาวไทยกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ” ธนพงษ์ กล่าวพร้อมเสริมว่า “การเข้ามาของแบรนด์เอ็มเอ็มซิกซ์ฯ จะทำให้กลุ่มแฟชั่นของบริษัททำตลาดในตอนนี้รวม 4 แบรนด์ คือ Marimekko, GANNI, UNITED ARROWS และล่าสุด MM6 Maison Margiela
สำหรับแบรนด์ MM6 Maison Margiela จะเป็นแบรนด์สินค้าเชิงกลยุทธ์ที่นำเข้ามาทำตลาดเพื่อเสริมศักยภาพกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น โดยแนวทางการทำตลาดจะเลือก ‘ทำเล’ เปิดร้านสาขาแบรนด์ MM6 ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายจริง โดยได้เปิดสาขาแรกภายใต้แนวคิด ลักซูรี่ สโตร์ แห่งแรกในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ บนพื้นที่ 130 ตร.ม.
“MM6 จับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบแฟชั่นการแต่งตัวมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และพร้อมใช้จ่ายให้กับเสื้อทีเชิ้ตในระดับราคาหมื่นบาท หรือหากเป็นเสื้อแจ็คเก็ตมีราคาอยู่ที่สองถึงสามหมื่นบาท โดยแบรนด์นี้จะมีสินค้ากลุ่มเรดดี้ทูแวร์สัดส่วน 60% และแอคเซสซอรี่ 40%” ธนพงษ์ กล่าวย้ำพร้อมเสริมว่า “แบรนด์ MM6 ยังเตรียมใช้กลยุทธ์การทำตลาดร่วม Collaboration กับแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ อย่าง Dr.Martens ในเร็วๆนี้ด้วย”
ธนพงษ์ บอกว่า “การนำแบรนด์ใหม่ดังกล่าวมาเสริมในกลุ่มธุรกิจแฟชั่นใช้เวลาวางแผนราว 1 ปีก่อนหน้าเพื่อตอบโจทย์กำลังซื้อกลุ่มใหม่ในระดับบนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา” พร้อมเสริมว่า “ด้วยกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ที่มีความชัดเจนด้านกำลังซื้อ บริษัทจะใช้กลยุทธ์ทำเลที่เหมาะสมเพื่อขยายสาขาให้ตรงกลุ่มมากกว่าการขยายสาขาจำนวนมากๆ”
ธนพงษ์ กล่าวต่อถึงแบรนด์มารีเมกโกะ โดยบริษัทเป็นผู้รับสิทธิ์ดูแลการทำตลาดในไทยมาราว 10 ปี ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่ยังมีศักยภาพสูงต่อเนื่องในตลาด โดยบริษัทฯ วางแผนขยายสาขาเพิ่ม 1 แห่งต่อปี จากปัจจุบันมีทั้งหมด 15 สาขาในทำเลศักยภาพเช่นกัน ด้วยเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพและเติบโตสูงสุดในกลุ่มแฟชั่นของบริษัทฯ
บาลานซ์แบรนด์พอร์ตไลฟ์สไตล์
ธนพงษ์ กล่าวว่า บริษัทยังเตรียมแผนนำสินค้าแบรนด์ใหม่กลุ่มสปอร์ตแวร์ แอคทีฟ แวร์ จากประเทศบราซิล คาดเปิดตัวในเดือนสิงหาคม นี้ ด้วยเป็นหนึ่งในสตราติจิก แบรนด์ ที่เข้ามาปรับสมดุล บาลานซ์พอร์ตกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อเพิ่มรายได้และลดการขาดทุน หลังจากบริษัทฯ ได้วางแผนทบทวนไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ใน 5-6 สาขาของแบรนด์ แคท คิดสตัน (Cath Kidston) ที่ในปัจจุบันมีราว 30 สาขาในไทย
“การลดทอนสาขาที่ไม่เพอร์ฟอร์มของแคท คิดสตัน ในไทย จะช่วยให้กิจการมีไฟแนนเชียลดีขึ้นจากในปี 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ ต้องรับสภาวะการขาดทุนของแบรนด์แคทฯ ที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2563 จากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาด้านค้าส่งบริษัทแม่อังกฤษ ไม่สามารถส่งสินค้ามาได้จำนวนมากพอกับความต้องการของหน้าร้าน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้กลุ่มลูกค้าหายไปและหันไปหาสินค้าแบรนด์อื่น ทำให้ยอดขายหน้าร้านไม่มากพอกับค่าใช้จ่ายของต้นทุนเช่าพื้นที่”
ธนพงษ์ กล่าวต่อสำหรับแบรนด์เครื่องประดับแพนโดร่า (Pandora) ปัจจุบันมีแนวโน้มดีต่อเนื่องราว ราว 43-45% แต่ในปีที่ผ่านมาขยายตัวขึ้น 1% จากในช่วงเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการปรับราคาที่สินค้าราวปลายปี และมีผลต่อยอดขายในไตรมาส4 ที่ผ่านมาด้วยเป็นการปรับราคาในช่วงที่ไม่เหมาะสมกับหน้าเฟสทีฟ ที่ผู้บริโภคมองหาซื้อสินค้า
“แต่ภาพรวมแบรนด์แพนโดร่ายังมีกระแสดีอยู่ด้วยเป็นแบรนด์หลีดในกลุ่มแอคเซสซอรี่ ในหมวดกำไล สร้อยคอ สวมใส่ในชีวิตประจำวันที่มักนึกถึงแพนโดร่าก่อน ปัจจุบันแบรนด์เริ่มเข้าไปในกลุ่มเด็กลง จากกลุ่มเป้าหมายเฉลี่ยอยู่ที่ 18-35 ปี ซึ่งแบรนด์วางแผนขยายสาขาต่อเนื่อง 2-3 แห่งในปี2568 นี้ พร้อมวางแผนออกสินค้าใหม่ราว 6 คอลเล็กชั่นจากก่อนหน้ามี 7 คอลเล็กชั่น ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ให้ลูกค้าสนใจในตัวแบรนด์มากกว่าตัวสินค้า”
เปิดสาขาใหม่ HARNN เมืองหางโจว
สำหรับธุรกิจกลุ่มความงามและสุขภาพ ผ่านแบรนด์สปาและความงาม ‘HARNN’ โดยในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรในประเทศจีนจัดตั้งบริษัท HARNN Greater China Co., Ltd เพื่อขยายการทำตลาดแบรนด์สินค้าดังกล่าวในตลาดจีน
ปัจจุบัน HARNN มีสินค้าจำหน่ายกว่า 170 แห่งทั่วประเทศจีน ผ่านร้านค้าชั้นนำในเมืองต่างๆ เช่น LADY TODAY และ AFIONA และ 5 ร้านค้า ใน 3 สนามบิน ได้แก่ Wenzhou Longwan International Airport, Tianjin Binhai International Airport และ Hangzhou Xiaoshan International Airport รวมถึงช่องทางการทำตลาดออนไลน์ ที่ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มออนไลน์และขายส่ง ในประเทศจีน
“ตัวแทนจำหน่ายแต่ละรายในจีนต่างมีสาขาหน้าร้านของตัวเองในมณฑลต่างๆ อย่างที่เสินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และจะเปิดสาขาในเมืองหางโจว เดือนเมษายน ปีนี้ ”
ธนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์แบรนด์ HARNN ทำตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีจีนเป็นตลาดสำคัญ รองลงมาคือ ตลาดสิงคโปร์ โดยในปีที่ผ่านมาตลาดในไทยมีอัตราการเติบโต 11% มุ่งทำตลาดรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว 60% และกลุ่มลูกค้าในประเทศ 40% วางสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว พร้อมครอบคลุมจุดจำหน่ายศูนย์การค้า แหล่งท่องเที่ยว และสนามบินต่างๆ
“การเติบโตแบรนด์ HARNN ยังจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่และการออกคอลเล็กชันสินค้าที่คงคุณภาพการเป็น HARNN DNA ซี่งในปีที่ผ่านมาหลังการร่วมทุนกับพันธมิตรในจีนเพื่อทำตลาดอย่างจริงจัง ทำให้ในไตรมาสสามปีที่ผ่านมามีผลประกอบการรายงานเข้ามาแล้ว”
ตลาดสิงคโปร์ ยังไปต่อ
ขณะที่ ธุรกิจในสิงคโปร์ ปัจจุบันทำตลาดสืนค้า 2 แบรนด์หลัก คือ Marimekko ที่เปิดให้บริการ 2 สาขาในปัจจุบัน ที่ไออน ออชาร์ด (ION Orchard) และคอนเซปต์ สโตร์ในห้างทาคาชิมาย่า ส่วนแบรนด์ HARNN เปิดสาขาในแหล่งช้อปปิง Raffles City
“หลังเข้าไปทำตลาดในสิงคโปร์ พบเทรนด์ของมารีเมกโกะมีแนวโน้มดีขึ้นและคงที่ต่อเนื่อง ส่วน HARNN ยังต้องสร้างแบรนด์ต่อ โดยจุดยากของตลาดสิงคโปร์ คือ ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทั้ง แรงงาน พนักงาน ค่าขนส่ง ค่าเช่าพื้นที่ ฯลฯ ที่สูงกว่าไทยราว 3 เท่าตัว ขณะที่ราคาสินค้าใกล้เคียงกับไทย ทำให้ต้องใช้กลยุทธ์ขยายสาขาเพิ่มเพื่อหารายได้เข้ามา” ธนพงษ์ กล่าว
พร้อมเสริมว่า จากแผนทั้งหมดที่กล่าวไว้ในปี 2568 นี้ บริษัทฯ เตรียมใช้งบลงทุนในภาพรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท พร้อมมุ่งเพิ่มยอดขายจากช่องทางออนไลน์เพิ่ม ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ คาดในปีนี้จะสร้างรายได้ในสัดส่วนราว 13% จากในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11% พร้อมวางเป้าหมายรายได้ในภาพรวมเติบโตเพิ่มขึ้น 20% จากในปี 2567 และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศราว 8-9 % พร้อมวางเป้าหมายเพิ่มขึ้น 15% จากตลาดหลักในประเทศจีน
โดยปัจจุบัน บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแฟชั่น, กลุ่มไลฟ์สไตล์, กลุ่มความงามและสุขภาพ สุดท้าย กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ผู้บริโภคเลือกแบรนด์-ลอยัลตีหายไป
ธนพงษ์ ทิ้งท้ายมุมมองตลาดแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของไทยในปัจจุบัน พบว่ามีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และค้นหาการแต่งตัวตามบุคลิกตัวเอง ขณะที่ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) สินค้าเริ่มหายไป พร้อมกับสภาวะเศรษฐกิจทีชะลอกำลังซื้อในบางกลุ่ม ทำให้กลุ่มลูกค้าแฟชั่นลดลงเรื่อย ๆ กระทบให้บางแบรนด์สินค้าในตลาดแฟชั่น หันมาใช้กลยุทธ์ราคาสินค้าที่ปรับลดลงเพื่อกระตุ้นยอด แต่อาจส่งผลเสียให้แบรนด์ดับเร็ว ด้วยไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง
“แต่กระนั้นตลาดแแฟชั่นก็ยังน่าสนใจอยู่เสมอ เพราะมีอะไรให้ตื้นเต้นตลอด”