‘เอชเอสบีซี’ สะท้อนเศรษฐกิจไทย อยู่ในจุดไหนในเวทีโลก? หลังนโยบายทรัมป์ 2.0 และการเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตของจีนสู่ภาคบริโภค แนะใช้ความเชี่ยวชาญหลักมุ่ง ‘Niche Market’
เฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัย ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) กล่าวในหัวข้อ ‘จับตาเศรษฐกิจเอเชียและไทยปี 2025 ท่ามกลางจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ของโลก’ (Asia and Thailand Economic Outlook 2025) ซึ่งในปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจเอเชีย และไทย กำลังอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญ ท่ามกลางความผันผวนของการค้าโลก และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายด้านภาษีของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงการปรับตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งกำลังเปลี่ยนทิศทางการลงทุนและห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
ทั้งนี้ หากโฟกัสยังประเทศไทย HSBC คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2025 คาดอยู่ที่ 2.7-3.3% มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ
- การขยายตัวของภาคการส่งออก ในจังหวะอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออก
- ภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสัญญาณจากนักท่องเที่ยวจีน มีแผนเดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทย จำนวนมากขึ้น
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) หนึ่งหมื่นบาท ที่ทยอยแจกให้ในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องในต้นปีนี้
“ปีนี้ไทยยังมีปัจจัยบวก3 ด้านหลักที่จะผลักดันให้ จีดีพีไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัว 3.3% แต่ในปี 2026 คาดจีดีพีอาจจะชะลอตัวลง หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว” เฟรดเดอริค กล่าวพร้อมเสริมว่า “ส่วนภาคการส่งออก ของไทย คาดจะได้รับอานิสงส์จาก จากมาตรทางภาษีทางการค้าที่สหรัฐฯมีแผนเรียกเก็บสินค้าจากจีนอัตรา 10% ตามนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการของๆไทยในจังหวะที่บริษัทหลายแห่งทั่วโลกชะลอการลงทุน”
เฟรดเดอริค กล่าวว่า นอกจากการท่องเที่ยวของไทย ที่มีความแข็งแกร่งแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคบริการทางการแพทย์ระดับภูมิภาค และยังรวมไปถึงการยกระดับภาคการผลิตสินค้าในกลุ่ม FMCG อุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ใช้แล้วหมดไป
“ไทยยังมีจุดแข็งภาคการผลิตสินค้าเอฟเอ็มซีจี ในการทำตลาดส่งออกโดยเฉพาะในจีน ซึ่งคาดว่าผู้บริโภคจีนจะมีความต้องการสินค้าสูงขึ้นอีกใน 2-3 ปีนับจากนี้ ด้วยประเทศจีนอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตไปสู่ภาคการบรนิโภค ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาอาจเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ภาวะชะลอตัว”
นอกจากนี้ ‘ประเทศไทย’ ยังต้องหันมาให้ความสำคัญในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่มีความถนัด อย่างภาคการเกษตร หรือ ในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตรงต่างประเทศ (FDI) จากจีนที่จะเข้ามาในตลาดอุตสาหกรรมในประเทศไทยมากขึ้นคาดในปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วน 50% จากเมื่อ 10 ปีก่อน หรือราวปี 2015 มีสัดส่วนFDI จากจีนราว 10%
ขณะที่ ภาคการผลิตของไทย อาจต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเข้ามาของทุนจีน ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุปกรณ์ชิปประมวลผล (Processor) ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ EV หรือ กลุ่มอุตสาหกรรม โลหะ เคมี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นจุดแข็งและสร้างความแตกต่างไปจากประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน อาทิ มาเลเซีย ด้านภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือ อุตสาหกรรรมสิ่งทอ ของเวียดนาม
เฟรดเดอริค กล่าวต่อถึงโอกาสของประเทศไทย ในด้านการเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน (Fonancial Hub) ระดับภูมิภาคนั้น ในขณะนี้อาจยังต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้านประกอบกัน ทั้งการลดการกำกับดูแล ความพร้อมทักษะความสามารถของบุคลากร โครงการงานระบบของหลังบ้าน (Back Office) ต่างๆ มาตรการจูงใจในการนำเข้าแรงงานที่มีทักษะสูง (Talent) จากต่างประเทศ ไปจนถึงการให้วีซ่า สิทธิพำนักในการอยู่อาศัยในประเทศไทย ความพร้อมด้านที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
พร้อมทิ้งท้ายว่า “ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย จะยังเป็นปัจจัยที่เป็นความท้าทายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ด้วยมีความน่าเป็นห่วง และจะส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภคที่จะชะลอตัวภาคเศรษฐกิจไปต่อ”