บัญชี จุฬาฯ หนุนองค์กรธุรกิจไทย พลิกเกม เพื่อธุรกิจ ปี 2568 เสริมวิตามินเข้มข้นแรงส่งให้โตแกร่งยั่งยืนในเวทีโลก

บัญชี จุฬาฯ หนุนองค์กรธุรกิจไทย พลิกเกม เพื่อธุรกิจ ปี 2568 เสริมวิตามินเข้มข้นแรงส่งให้โตแกร่งยั่งยืนในเวทีโลก
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จัดสัมมนาวิชาการ “CBS: Boost Your Business Wisdom” เติมวิตามินเข้มข้นสำหรับเสริมภูมิธุรกิจ สะท้อนครบทุกมิติเตรียมพร้อมสู่โลกเศรษฐกิจยั่งยืนและเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายในหัวข้อ Regenerative Marketing : New Generation of Marketing ภาควิชาการตลาด ว่า ธุรกิจ และนักการตลาดในยุคปัจจุบันควรให้ความสำคัญ การตลาดในรูปแบบ รีเจนเนอเรทีฟ มาร์เก็ตติ้ง (Regenerative Marketing) แนวคิดการตลาดเพื่อสร้างแบรนด์และประสบการณ์ โดยมุ่งเน้นสร้างคุณค่าผ่านการฟื้นฟูทรัพยากรต่าง ๆ พร้อมสร้างผลกำไรให้ธุรกิจ ไปพร้อมการสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Stakeholder)  เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งเศรษฐกิจ และโลกให้ดีกว่าเดิม ในระยะยาว

โดยองค์กร/ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม สามารถนำแนวทางที่เปรียบเสมือน ‘วิตามิน’ นำมาช่วยฟื้นฟูและเสริมแกร่งให้กับองค์กร 5 ด้านดังนี้

  1. วิตามินเอ  (Vitamin A: Awareness & Activism) การปลุกจิตสำนึกและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ในการทำตลาดที่มีส่วนให้โลกดีขึ้น ซึ่งยังหมายถึงการสร้างความพีงพอใจให้กับผู้บริโภคทุกเจนเนอเรชั่น และผู้ส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน
  2. วิตามินบี (Vitamin B: Beyond Sustainability) การก้าวข้ามความยั่งยืน ผ่านการสร้างผลกระทบเชิงบวก ไม่ใช่แค่รักษาธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นการฟื้นฟูให้กลับมายั่งยืนอย่างแท้จริง
  3. วิตามินซี (Vitamin C: Consumer Empowerment) ให้พลังผู้บริโภคเลือกสิ่งที่ดี ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อความยั่งยืน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค,
  4. วิตามินดี (Vitamin D: Design for Circularity) ออกแบบธุรกิจให้หมุนเวียน และลดขยะ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของการนำกลับมาใช้ซ้ำของผลิตภัณฑ์ ผ่านกระบวนการออกแบบ
  5. วิตามินอี (Vitamin E: Ecosystem Restoration) ฟื้นฟูธรรมชาติ และสังคม  จากปัจจุบันได้เข้าสู่โลกเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI: Artificial Intelligence) ทั้งการใช้งานในองค์กรและสังคมวงกว้าง ที่ผู้ใช้งานควรให้ความสำคัญด้านจริยธรรม (Ethics) ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม/ระบบนิเวศให้สอดคล้องกับ ESG  

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวว่า “การขับเคลื่อนเพื่อดำเนินการในด้านนี้ จะต้องมองเป็นภาพรวม Holistic ทั้งสังคมและองค์กรให้ควบคู่กันไปทั้งหมดด้วยความตั้งใจจริงด้วยแนวคิดด้านความยั่งยืนตลอดกระบวนการว่าเป็นการลงทุน (Investment)ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย (Expense) เพื่อมุ่งไปสู่ ฮาร์ท แชร์ (Heart share) จากผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า/บริการ นั้นๆ โดยสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market share ) โดยผู้บริโภคเป็นผู้ตอบแทนคืนกลับมาในที่สุด”  

 

ด้าน ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล เสริมว่า “ทั้ง 5 วิตามินดังกล่าวยังป็นคำถามถึงภาคธุรกิจ และองค์กรให้ทบทวนแผนดำเนินงาน ธุรกิจให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันและในอนาคตที่จะเป็นมากกว่าความยั่งยืนด้วย”

 

ปรับตัวรับ Mega Trends โลก

 

สำหรับการสัมมนาหัวข้อ Thailand Ahead: The Outlook in Business Strategy, Technology, and Sustainability ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ โดย อ.ดร.ภัทริน ตั้งวรากร พร้อมด้วย อ.ดร.รพีพร รุ้งสีทอง และ ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ร่วมกล่าวว่า ธุรกิจไทยต้องปรับตัวให้สมดุลกับ Mega Trends อย่าง ESG, Regionalization และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การบูรณาการแนวโน้มเหล่านี้เข้ากับกลยุทธ์องค์กรจะช่วยให้ธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่โอกาสของประเทศไทย ควรสร้างสมดุลระหว่าง Mega Trends ที่เกิดขึ้นเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้าน Regionalization การนำธุรกิจไทยขยายตลาดสู่ภูมิภาค ASEAN รวมถึงเตรียมความพร้อมรับมือนโยบายการค้าระหว่างประเทศจาก สงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน

 

รายงานเพื่อความยั่งยืน เสริมธุรกิจแกร่ง

 

สำหรับการสัมมนาหัวข้อ Beyond Financial Metrics : ESG and SDG Reporting ภาควิชาการบัญชี โดย รศ.ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ พร้อมด้วย อ.ดร.นิภัทร์ พวงจำปา และ อ.ดร.ภูมิภัทร์ แดงวัง ร่วมกล่าวถึงบทบาทของนักบัญชีที่ต้องปรับตัวเพื่อรายงานข้อมูล ESG และ SDG เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากตัวชี้วัดทางการเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้บริโภคสามารถประเมินศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว รวมถึงสามารถประเมินผลกระทบทางจริยธรรมและความยั่งยืนของธุรกิจ

 

 

 

สมดุลเทคโนโลยีและสังคมดิจิทัล

 

สำหรับการสัมมนาหัวข้อ ESG and Digital Society ภาควิชาการธนาคารและการเงิน โดย ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล , ผศ.ดร.รัฐชัย ศีลาเจริญ ร่วมกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแต่ต้องบริหารจัดการให้สมดุลระหว่างเทคโนโลยีและความยุติธรรมทางสังคม เช่น การใช้พลังงาน การคุ้มครองแรงงาน และการฟอกเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืน ร่วมกัน

 

โลกใช้พลังงานพุ่ง E-Waste ล้น

 

สำหรับการสัมมนาในหัวข้อ Sustainability in Digital World ภาควิชาสถิติ โดย ศ.ดร.วธน์ วิริยสิทธาวัฒน์ พร้อมด้วย รศ.ดร.บุรัชย์ ภัทรโกศล และ ผศ. ดร.ภูริพันธุ์ รุจิขจร ร่วมกล่าวถึง เทคโนโลยีดิจิทัลเช่น AI และ บล็อกเชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและการจัดการทรัพยากร แต่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น การใช้พลังงานสูงและขยะอิเล็กทรอนิอส์ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืนต้องอาศัยนโยบาย Thailand 4.0 และเศรษฐกิจ BCG ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความท้าทายรวมถึงการลงทุนสูง และกฎระเบียบที่ไม่เอื้อ

รองศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปถึงการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผ่านการจัดงาน CBS : Boots Your Business Wisdom ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของคณะฯ ที่มุ่งมั่น พร้อมสนับสนุนให้ทุกๆ ธุรกิจได้มีเครื่องมือและความรู้เตรียมพร้อมในการปรับตัว ในโลกปัจจุบัน

สำหรับผู้สนใจสามารถกดลิงก์พร้อมรับฟังข้อมูลฉบับเต็มในงานสัมมนา CBS : Boots Your Business Wisdom

 

TAGS: #CBS #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย