GDP ปีนี้ 2.3-3.3% แนะรัฐออกแพจเกจกระตุ้นลงทุน

GDP ปีนี้ 2.3-3.3% แนะรัฐออกแพจเกจกระตุ้นลงทุน
สภาพัฒน์ฯ หวังรัฐออกมาตรการบูมลงทุนภาคเอกชนเรียกเชื่อมั่น เร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ จับตาปัจจัยเสี่ยงนโยบายการค้าสหรัฐ-หนี้ครัวเรือน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดการณ์ GDP ขยายตัวที่ 2.3 – 3.3% (ค่ากลาง 2.8%) เท่ากับประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของภาคของส่งออก

สำหรับแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568 ควรให้ความสำคัญใน 5 ประเด็น คือ 1.การเตรียมการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า เจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าโดยเร่งรัดส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ

2.การเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบของกิจการร่วมค้า (Joint venture) เพื่อสร้างโอกาสในการส่งเสริมการสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องของไทยในช่วงของการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตขยายการผลิตในประเทศไทย

ด้านนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ต้องเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่มีศักยภาพ

3.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 75% ของกรอบงบลงทุนรวม โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญ ทั้งโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งโครงการลงทุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อวางรากฐานปัจจัยการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ให้กระจายไปสู่ชุมชน

4.การสร้างการตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ

5.การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยง ยังต้องจับตานโยบายสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าและการจัดเก็บภาษีศุลกากร อาจทำให้ GDP ไม่ถึง 3% ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับ และความเสี่ยงจากการผันผวนในภาคการเกษตรทั้ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ

ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์ GDP ปี 68 ขยายตัว 2.3 – 3.3 % ได้รวมมาตรการแจกเงินหมื่นและความเสี่ยงจากนโยบายการค้าโลกแล้ว ส่วนเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้ GDP ขยายตัวถึง 3.5% นั้น ต้องมีมาตรการเสริมการลงทุนและกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนจากภาครัฐ

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรมองช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงต้องพิจารณาเม็ดเงินที่เหลืออยู่ ซึ่งหลังจากมีการแจกเงินหมื่นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุไปแล้ว มีเม็ดเงินเหลืออยู่ในขณะนี้ราว 1.57 แสนล้านบาท  โดยช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในกระจายการเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ ต้องจัดทำเป็นแพจเกจการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการน้ำ ในรูปแบบโครงการไม่ใหญ่ ขนาด 5 – 10 ล้านบาท เพื่อกระจายไปในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยการส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว ก็อาจทำให้เป้าหมายของรัฐบาลประสบความสำเร็จได้ และยังช่วยสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ แก้ปัญหาภัยพิบัติในระดับหนึ่งด้วย”

นายดนุชากล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2567 ขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 3% โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการ การอุปโภคภาคเอกชน ส่วนภาคการเกษตรกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ต้องการแก้หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ส่งผลให้ GDP ปี 2567 ขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจาก 2.0% ในปี 2566 มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคบริโภคเอกชนและการส่งออกสินค้า

 

TAGS: #สภาพัฒน์ฯ #เร่งเบิกจ่าย #นโยบายการค้าสหรัฐ #หนี้ครัวเรือน