SHARGE รุกคืบธุรกิจ EV ครบวงจร ตอบโจทย์เทรนด์คนใช้รถขยายตัว เร่งเจรจาพันธมิตรรายใหม่รองรับการเพิ่มทุน ปักธงรายได้ปีนี้พุ่ง 6 เท่า
นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาพันธมิตรรายใหญ่ด้านพลังงาน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มทุนของบริษัทฯรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ในไทยที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในการเพิ่มทุนนอกจากได้รับแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาขยายจุดชาร์ทแล้วยังได้เรียนรู้การเพิ่มศักยภาพทางเทคโนโลยีชาร์จ EV ด้วย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดบริการแบบครบวงจรในธุรกิจ EV Charging รวมถึงการขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
ปัจจุบัน SHARGE ให้บริการกับลูกค้า 3 กลุ่ม คือ 1.ขายและติดตั้งเครื่องชาร์จ EV ให้กับโครงการบ้านจัดสรร โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับ แสนสิริ และ เอสซี แอสเสท 2. ขายไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถยนต์ EV ตามจุดให้บริการสาธารณะต่างๆ หรือตามอาคารที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล 3.ร่วมมือกับค่ายรถยนต์นการติดตั้งจุดชาร์จ EV เช่น BYD Benz AUDI และPorche
สำหรับแนวโน้มรายได้ในปี 2566 หากประเมินจากไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มีรายได้แล้ว 67 ล้านบาท โตกว่ารายได้ปี 2565 ทั้งปีอยู่ที่ 56 ล้านบาท คาดการณ์ทั้งปีจะมีรายได้โตกว่า 6 เท่าหรือประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากกระแสความนิยมของรถEV ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีงานติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายในเดือนเม.ย.นี้ติดตั้งได้ 2 หมื่นเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญากับ BYD ประมาณ 11,400 คัน นอกจากนั้นก็เป็นการติดตั้งให้กับโครงการบ้านจัดสรร เช่น แสนสิริ, เอสซี แอสเสท รวมถึงการติดตั้งให้กับสถานีบริการน้ำมันเชลล์
ขณะที่ยังมีงานลูกค้าของค่ายรถยนต์ที่รอติดตั้งอีก 2 หมื่นเครื่อง ทั้งลูกค้าที่เป็นค่ายรถยนต์ โครงการบ้านจัดสรร รวมทั้งการสร้างสถานีชาร์จให้กับสถานีบริการน้ำมันเชลล์ โดยล่าสุดมีการลงนามให้บริการเครื่องชาร์จให้กับค่ายรถยนต์ฮอนด้า และอยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายรถยนต์โตโยต้าในการสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ด้านโครงการสร้างรายได้ของ SHARGE มีสัดส่วนจากการขายเครื่องชาร์จและติดตั้งกว่า 90% รายได้จากการขายไฟฟ้า 10% โดยวางเป้าหมายภายใน 5 ปี ข้างหน้า (2566 – 2570) จะเพิ่มสัดส่วนการขายไฟฟ้าจากเครื่องชาร์จเป็น 40% ส่วนรายได้จากการขายเครื่องชาร์จจะอยู่ที่ 60% เพราะในอนาคตหากมีการติดตั้งเครื่องชาร์จเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มตามไปด้วย
นายพีระภัทร กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดรวมเครื่องชาร์จ EV ทั้งการติดตั้งภายในบ้าน และสถานีชาร์จทั่วไปมีมูลค่าตลาดกว่า 2,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถEV ทั้งการลดภถาษี และส่งเสริมการเกิดการลงทุนโรงงานรถEV ในไทย