ส.อ.ท.จับสัญญาณฟื้นใช้จ่ายในประเทศผลจากมาตรการ Easy E-Receipt แจกเงินหมื่น แนะออกมาตรการส่งเสริม การบริโภค-ท่องเที่ยวต่อเนื่อง จี้รัฐขยับตัวเร็วตั้งวอร์รูมรับมือทรัมป์
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ระดับ 91.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 90.1 ในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกขยายตัวจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเร่งนำเข้าเพื่อสต็อกสินค้า โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม)ฃ
ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 (ช่วง 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568) คาดว่าจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) โอนเงิน 10,000 บาท เฟส 2 วงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามามากว่า 532,853 คน ในเดือนมกราคม 2568 และภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อาทิ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร (1 มกราคม - 31 มีนาคม 2568) การปรับลดค่าไฟฟ้า อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย จากเดิม 4.18 บาท (งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2568)
อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคม ยังมีปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และกฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งภาครัฐควรขยับตัวให้เร็วขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการตั้งวอร์รูมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นนำไปสู่แนวทางป้องกันให้ทันกับสถานการณ์ทีเกิดขึ้น
รวมไปถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 กระทบต่อเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวและสุขภาพประชาชน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง กระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวช้า อีกทั้ง ยอดขายรถยนต์ยังฟื้นตัวได้ช้า จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน
อย่างไรก็ตามจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,347 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมกราคม 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 50.4% เศรษฐกิจในประเทศ 48.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 35.3% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 25.0% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ 43.2% และราคาน้ำมัน 39.1%
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการแก้หนี้ในโครงการคุณสู้เราช่วย ช่วยลดภาระหนี้และค่าใช้จ่ายทางการเงินให้กับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs สินค้าไทยอาจส่งออกได้มากขึ้นในบางอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จากการทดแทนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ และจีนที่มีราคาสูงขึ้นจากการตอบโต้ทางภาษีระหว่างกัน ด้านภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วง High season
ทั้งนี้ ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่องที่สหรัฐฯ ประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอาจทำให้สินค้าจีนประสบปัญหาสินค้ามีมากกว่าความต้องการ ทำให้สินค้าเหลือ คงค้าง (Oversupply) และเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยและอาเซียนมากขึ้น ตลอดจนการใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีที่เพิ่มมากขึ้น อาจสร้างแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก
ทั้งนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อใช้ในการบริหารนโยบายดังนี้ 1. เสนอให้ภาครัฐชะลอการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) ในบางอุตสาหกรรม และเน้นส่งเสริมการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) รวมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนนอกเหนือจากมาตรการทางภาษี
2.เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศทั้งการเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่งเสริมการขยายตลาดในภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกกับสินค้าที่ได้รับการรับรอง MiT
3.เสนอให้ภาครัฐเร่งเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า และจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเปิดเสรี โดยมีปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 (TPA : Third Party Access) เป็นการทั่วไป โดยเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดที่ได้ดำเนินการแล้ว
4.เสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการทางการค้าอื่นๆ นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) เพื่อให้การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) รวมทั้งปรับระยะเวลาการพิจารณาใช้มาตรการทางการค้าให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์มากขึ้น และพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือน (Early Warning System) ปริมาณสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงผิดปกติ
ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ไทยยังไม่หลุดพ้นจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะที่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาโครงการบ้านแนวราบมียอดโอนลดลงไป 13% และคาดปี’68 จะยังไม่ฟื้นตัวจากการถูกปฏิเสธสินเชื่อ 40-50% สำหรับบ้านราคา 1-3. ล้านบาท
นอกจากนี้หลายภาคส่วนยังฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยวจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27% ขณะที่ยอดใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อคน อยู่ที่ 4.7 หมื่นบาท เพิ่มขึ้น 6% เทียบกับปีก่อน แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายไทยเที่ยวไทยยังน้อย ซึ่งรัฐควรออกมาตรการกระตุ้นให้คนไทยออกมาเที่ยวมากขึ้น จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้