ญี่ปุ่นขยายลงทุนในไทยหนีกฏเหล็กเทรดวอร์

ญี่ปุ่นขยายลงทุนในไทยหนีกฏเหล็กเทรดวอร์
บีโอไอ เผยผลสำเร็จโรดโชว์ญี่ปุ่นนักธุรกิจขานรับ เดินหน้าลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตอกย้ำเชื่อมั่นศักยภาพไทย รุกเจรจาแผนการลงทุนกับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์สมัยใหม่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการเยือนประเทศญี่ปุ่น นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 19 – 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยการเยือนครั้งนี้ บีโอไอได้ผนึกกำลังกับธนาคาร SMBC และพันธมิตรภาคธุรกิจญี่ปุ่น จัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand - Japan Investment Forum 2025” ณ  กรุงโตเกียว เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการรองรับคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากญี่ปุ่น มีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 400 ราย มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ปิโตรเคมี พลาสติก อาหารแปรรูป

รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น สถาบันการเงิน ธุรกิจดิจิทัล การค้า และโลจิสติกส์ แสดงถึงการให้ความสำคัญและความสนใจอย่างมากของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่ต้องการกระจายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีน เพื่อบริหารจัดการซัพพลายเชน และลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ หรือสงครามการค้า (เทรดวอร์)

ทั้งนี้ภายในงานสัมมนาใหญ่  รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความพร้อมของไทยและ แนวทางการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ผ่านการพัฒนา 4 ปัจจัยคือ (1) การพัฒนาทุนมนุษย์  (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการขนส่ง ดิจิทัล ระบบน้ำและพลังงาน (3) การพัฒนานวัตกรรมด้าน ต่าง ๆ

และ (4) การสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านนโยบาย กฎระเบียบ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า และสาขาเกษตรที่เป็นภาคการผลิตหลักของไทย โดยไทยสามารถเป็นได้ทั้งตลาด ฐานการผลิต ฐานการวิจัยและพัฒนา และมีศักยภาพที่จะเติมเต็ม supply chain ของธุรกิจญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่บีโอไอ ได้นำเสนอมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ สิทธิประโยชน์ และโอกาสการลงทุนในไทย โดยเฉพาะ 5 สาขาสำคัญที่จะเป็นฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่น บีโอไอได้ชี้แจงมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาแล้ว เช่น มาตรการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างชาติ มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ไฮบริด

รวมทั้งการสนับสนุนด้านพลังงานสะอาด และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมยุคใหม่ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่น ได้แก่ ธนาคาร SMBC บริษัท Mitsubishi และ Fujikura ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของการลงทุนในไทย ตลอดจนชี้โอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ในไทยภายใต้ Trump 2.0 ด้วย

นอกจากงานสัมมนาแล้ว รองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการบีโอไอ และเอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่น ยังได้หารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับนักลงทุนญี่ปุ่น ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ 3 ราย ได้แก่ Toshiba Electronic Device and Storage, MinebeaMitsumi และ Rapidus ซึ่งญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มีความสนใจลงทุนในไทย ในส่วนการประกอบและทดสอบขั้นสูง (Back-end Semiconductor) โดยเฉพาะในกลุ่ม Power Electronics ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ใน Data Center และระบบ กักเก็บพลังงาน   รวมถึงยังได้พบกับศูนย์เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ (Leading-edge Semiconductor Technology Center: LSTC) เพื่อหารือความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านเซมิ คอนดักเตอร์ด้วย

ด้านกลุ่มยานยนต์ 2 ราย ได้แก่ Isuzu และ Mitsubishi Motor โดยทั้งสองบริษัทได้ยืนยันเดินหน้าขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกหลักของบริษัท พร้อมนำเสนอแผนเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ โดย Isuzu จะเริ่มผลิตรถกระบะ BEV เพื่อส่งออกไปนอร์เวย์ในปีนี้ และอยู่ระหว่างพัฒนารถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ใช้ระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-fuel) ขณะที่ Mitsubishi Motor มีแผนเปิดตัวรถยนต์ HEV รุ่นใหม่ รวมทั้งจะเริ่มผลิตรถขนส่งขนาดเล็กแบบ BEV ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วย

สำหรับกลุ่มอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Suntory Group ซึ่งมีความสนใจขยายการลงทุนในไทย ทั้งด้านการผลิตเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยคณะได้เชิญชวนให้บริษัทขยายกิจกรรมวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือแนวทางการส่งเสริม บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และมีเป้าหมายจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดภายในปี 2573

อย่างไรก็ตามคณะยังได้พบกับ นายมูโตะ โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) รวมทั้งประธานองค์กรส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยทั้งสองฝ่าย ได้เห็นชอบที่จะผนึกกำลังรัฐบาลไทย - ญี่ปุ่น ผ่านกลไกความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Dialogue: EID) เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาพลังงานใหม่ เช่น น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และไฮโดรเจน การส่งเสริม SMEs และ Startup จากญี่ปุ่น รวมทั้งการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“การเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี นอกจากมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คนแล้ว ทุกบริษัทที่ได้พบยังมีแผนขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาค และมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก มีความเสี่ยงทาง ภูมิรัฐศาสตร์ต่ำ มีซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนที่ดี นอกจากนี้ การพบกันระหว่างท่านรองนายกฯ พิชัย กับรัฐมนตรี METI ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นว่า รัฐบาลทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ให้สามารถแข่งขันได้และเติบโต อย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูงและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นายนฤตม์ กล่าว

 

TAGS: #บีโอไอ #โรดโชว์ญี่ปุ่น #เซมิคอนดักเตอร์ #ยานยนต์สมัยใหม่