ชงรัฐปรับเกณฑ์สินเชื่อ SME หนุนสภาพคล่องกลุ่มเปราะบาง

ชงรัฐปรับเกณฑ์สินเชื่อ SME หนุนสภาพคล่องกลุ่มเปราะบาง
หอการค้าฯ ห่วงเอสเอ็มอีประสบปัญหาสภาพคล่องเข้าถึงแหล่งทุนยาก จับมือ SME D Bank ดันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี แก้ปัญหากลุ่มเปราะบางกู้นอกระบบ พร้อมให้สิทธิสมาชิก ลดค่าธรรมเนียมการพิจารณาสินเชื่อ

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ภาคธุรกิจยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ประกอบการจำนวนมากประสบกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาหมุนเวียนสภาพคล่อง โดยพยายามหาทางรอดด้วยวิธีการต่าง ๆ บางรายหันไปพึ่งแหล่งเงินทุนจากสินเชื่อส่วนบุคคลหรือบัตรเครดิตจาก non bank ซึ่งก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับการทำธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น บางรายใช้วิธีพึ่งพาเงินนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูงมาก ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาจนยากต่อการแก้ไขในอนาคต

 

ทั้งนี้หอการค้าฯ เข้าใจดีถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ที่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงหลายด้านที่อาจจะกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของผู้กู้ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้น จนทำให้ระบบสินเชื่อของธนาคารติดล็อกไม่ทำงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการประสานกันระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน หากย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปัญหาหลักเกิดจากความไม่แข็งแกร่งของสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่

 

อย่างไรก็ตามวันนี้ปัญหาหลักกลับอยู่ที่ฐานรากของเศรษฐกิจ นั่นคือ SMEs ที่ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าแนวทางการจัดการต้องเปลี่ยนไป จากเดิมที่มุ่งเน้นรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงิน วันนี้ต้องให้ความสำคัญกับการทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ได้สะดวกและเข้าถึงง่ายขึ้น เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลางสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งในส่วนของธุรกิจก่อสร้างทั่วไปที่เชื่อมโยงกับหลากหลายอุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการของภาครัฐ ซึ่งในบางกรณียังคงมีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ทำให้ผู้ประกอบการเกิดปัญหาสภาพคล่อง หากสามารถเพิ่มสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อให้กับธุรกิจเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวเร็วขึ้น และนำไปสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

ทางหอการค้าไทยและ SME D Bank ได้เล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานี้ จึงได้เสนอให้ขยายวงเงินสินเชื่อ Factoring ของ SME D Bank สำหรับผู้รับเหมาที่มีศักยภาพ จากเดิม 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบมากขึ้น โดยหอการค้าไทยจะนำเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในเดือนนี้ เพื่อผลักดันให้มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านนายธวัชชัย  เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่หอการค้าฯ มุ่งเน้นนั้น เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ และเกี่ยวเนื่องไปถึงการสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชน (แรงงาน) จำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ภาคการท่องเที่ยว มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ
หลายอย่าง แม้ตัวเลขการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนจากจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่กลับมาเกือบเป็นปกติ แต่ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยก็ยังประสบกับปัญหาสภาพคล่อง และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ส่วนภาคการเกษตร ช่วงที่ผ่านมาได้เผชิญปัญหากับปรากฏการณ์
เอลนีโญ–ลานีญา และสภาพอากาศที่แปรปรวน

รวมทั้งราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดยังอยู่ในระดับสูง จึงประสบกับปัญหาด้านต้นทุน การช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคการเกษตรนี้ จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังแรงงานภาคการเกษตรได้อีกมาก ในขณะที่ ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์นั้น มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีสัญญารับงานจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นหลักประกันที่ดีอย่างหนึ่งในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อมีการขอสินเชื่อ ดังนั้น หากมีกลไกในการคัดกรองผู้ประกอบการที่ยังมีศักยภาพ เพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อแล้ว ก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจนี้เติบโตได้ดีอีกครั้ง

นายพิชิต  มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ธนาคารฯ ได้เปิดตัวสินเชื่อ 2 โครงการใหม่ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการ เปิดรับคำขอจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 นี้ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อ “ปลุกพลัง SME” วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็ก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในทุกภาคธุรกิจ ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึงหมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ วงเงินกู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน และใช้ บสย.ค้ำประกันได้

และ 2) โครงการสินเชื่อ “Beyond ติดปีก SME” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในทุกภาคธุรกิจ ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับใช้เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ใช้ บสย.ค้ำประกันร่วมได้

สำหรับความร่วมมือกับหอการค้าไทยนั้น นอกจากดอกเบี้ยที่ถูกแล้ว SME D Bank ยังมอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกและเครือข่ายหอการค้าเพิ่มเติม ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการพิจารณาสินเชื่อ พร้อมกับการพิจารณาแบบ Fast track รู้ผลไว ไม่ต้องรอนาน ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายการปฏิบัติในปัจจุบัน รวมทั้งสิทธิในการรับคำปรึกษา และบริการต่าง ๆ ที่อยู่ในแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th) ของธนาคารฯ

นอกจากนั้น ในอนาคตจะมีการหารือร่วมกันทำแคมเปญพิเศษเป็นช่วง ๆ เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกหอการค้า รวมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้ตรงกับความต้องการ และแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละกลุ่มธุรกิจต่อไป

 

TAGS: #หอการค้าไทย #เอสเอ็มอี #SME #D #Bank #กลุ่มเปราะบาง