กรมพัฒนาธุรกิจฯประเมินปีนี้สัญญาณดีธุรกิจตั้งใหม่ เดือนแรกโต 102% ต่างชาติยกขบวนทำธุรกิจในไทย 103 ราย เงินลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนมกราคม 2568 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 8,862 ราย เพิ่มขึ้น 4,485 ราย (102%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (4,377 ราย) และทุนจดทะเบียนรวม 24,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,056 ล้านบาท (8.98%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (22,895 ล้านบาท)
ด้านธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 691 ราย ทุน 1,423 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 612 ราย ทุน 2,039 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 336 ราย ทุน 731 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.80%, 6.91% และ 3.79% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 ตามลำดับ
ขณะที่การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,431 ราย ลดลง 4,634 ราย(-76.41%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (6,065 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 4,601 ล้านบาท ลดลง 30,501 ล้านบาท (-86.89%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2567 (35,102 ล้านบาท) โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1 ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 151 ราย ทุนเลิก 264 ล้านบาท 2. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 58 ราย ทุนเลิก 178 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 52 ราย ทุนเลิก 158 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.55%, 4.05% และ 3.64% ของจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 ตามลำดับ
ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,973,692 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.54 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 929,377 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.32 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2568 จะมีธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งใหม่อยู่ที่ 27,000-28,000 ราย คิดเป็น 30% ของยอดจดทะเบียนทั้งปี และตลอดปี 2568 จะอยู่ที่ 90,000-95,000 ราย โดยอัตราส่วนการจัดตั้งธุรกิจต่อการเลิกธุรกิจในเดือนมกราคม 2568 พบว่าอยู่ที่ 6:1 ซึ่งถือว่ามีการจัดตั้งใหม่ที่เติบโตสูง ขณะที่การเลิกยังต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนเฉลี่ย ปี 2567 อยู่ที่ 4:1 และ 5 ปี ย้อนหลัง (2562-2566) อยู่ที่ 3:1 แสดงให้ถึงแนวโน้มที่ดีของภาคธุรกิจในปี 2568
ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติ เดือนมกราคม มีจำนวน 103 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 21 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 82 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 23,160 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 7 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 21 ราย คิดเป็น 20% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 8,880 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเลระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการตรวจสอบและสอบเทียบอุปกรณ์การตรวจจับการรั่วไหลของแก๊ส และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
2. สหรัฐอเมริกา 14 ราย คิดเป็น 14% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 971 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการสนับสนุนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต
3. จีน 10 ราย คิดเป็น 10% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,925 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
4. สิงคโปร์ 10 ราย คิดเป็น 10% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 2,178 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจ บริการติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration) เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน และรายการบันเทิง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
5. ฮ่องกง 9 ราย คิดเป็น 9% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,251 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
6. ไต้หวัน 8 ราย คิดเป็น 8% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 681 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งโครงสร้างเหล็กของอาคารคลังสินค้า ธุรกิจบริการออกแบบระบบสถาปัตยกรรมทางด้านดิจิทัล (Digital Architecture Design Service) และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
7. เยอรมนี 7 ราย คิดเป็น 7% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,048 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาเครื่องปั๊มความร้อน (Heat pump) ธุรกิจบริการทำการตลาดและส่งเสริมการขายสิ่งทอเทคนิค และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุน จำนวน 29 ราย คิดเป็น 28% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2567 จำนวน 12 ราย (71%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 12,329 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น 11 ราย ลงทุน 5,574 ล้านบาท จีน 6 ราย ลงทุน 1,775 ล้านบาท สิงคโปร์ 3 ราย ลงทุน 1,610 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 9 ราย ลงทุน 3,370 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจค้าปลีกแม่พิมพ์โลหะและจิ๊ก (JIG) สำหรับใช้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจบริการตรวจสอบและสอบเทียบอุปกรณ์การตรวจจับการรั่วไหลของแก๊ส และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น