กกพ.ประชุมด่วนคณะอนุฯเอฟที ลุ้นลดค่าไฟงวด2/66 เหลือหน่วยละ 4.70 บาท ด้านไฟพีคทำสถิติรายวันเหตุอากาศร้อน ล่าสุดแตะ32,212.5 เมกะวัตต์
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ในวันที่ 21 เม.ย. คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที ) จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าเอฟที รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.โดยนำข้อเสนอของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยอมให้ยืดการชำระหนี้คืนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่2 ของปีนี้ เดือนพ.ค.-ส.ค. ลดลงจาก 4.77 บาทเป็น 4.70 บาท/หน่วย
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯเอฟที มีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ที่ดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลังและหนี้สิน ร่วมอยู่ด้วย หากได้รับความเห็นชอบจะสามารถประกาศปรับลดค่าไฟฟ้าได้ ขณะที่หนังสือที่กฟผ.ยืนยันจะยืดหนี้ ระบุว่า ในรอบค่าไฟงวดที่ 2/66 สามารถบริหารสภาพคล่องได้ แต่งวดที่ 3/66 (ก.ย.-ธ.ค.)อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถที่จะยืดหนี้ได้อีก โดยภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนกฟผ.อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท และได้จ่ายคืนหนี้ในงวดที่ 1 /66 (ม.ค.-เม.ย.) ไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ทำหนังสือ ยืนยันไปยัง กกพ. ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาให้ปรับลดค่าเอฟที งวดที่2 โดยต้องยอมรับว่าในขณะนี้อากาศร้อนจัด ประชาชนเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นจำนวนมาก ส่งผลเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(ไฟพีค) ของปีนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ล่าสุดไฟพีคเกิดขึ้นเมื่อค่ำวานนี้ (19 เม.ย.66 ) เวลา 20.44 น.ที่32,212.5 เมกะวัตต์ ซึ่งค่าไฟฟ้าเมืองไทยเป็นอัตราก้าวหน้ายิ่งใช้หน่วยจำนวนมากก็ยิ่งจ่ายแพง โดยค่าไฟงวดนี้ (ม.ค.-เม.ย.66)ค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยเฉลี่ยที่ 4.72 บาท/หน่วย และยังมีเงินช่วยเหลือจากรัฐลดพิเศษให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
สำหรับการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าในรอบถัดไปขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะมีส่วนใดมาช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ นอกเหนือจากการยืดจ่ายหนี้คืน กฟผ. ซึ่งจากการหารือกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้งบราว 8,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมองถึงค่าไฟฟ้า งวดที่ 3 เดือนก.ย.-ธ.ค. จะทำอย่างไรให้มีต้นทุนต่ำที่สุด โดย มอบหมายให้ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในช่วงนี้เพราะมีราคาต่ำ11-13 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูมาสำรองไว้ได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟงวดที่ 1 /66 ราคาแอลเอ็นจีสูงอยู่ที่ 47 เหรียญสหารัฐ/ล้านบีทียู
“ต้องยอมรับว่าค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นเกิดจากปริมาณก๊าซฯอ่าวไทยลดลงเพราะมีการผลิตและนำมาใช้นานถึงกว่า 40 ปีแล้ว ประกอบกับช่วงการเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซเอราวัณจากผู้ผลิตรายเก่ามาเป็นรายใหม่ ผลิตได้ต่ำกว่าแผนงาน จึงจำเป็นต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้าทดแทน และยังเกิดผลกระทบหนักจากราคาพลังงานตลาดโลกก็สูงขึ้นมากในปีที่แล้วจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดย กระทรวงพลังงานได้วางแนวทางลดภาระทุกด้าน แต่สุดท้ายราคาก็ต้องสะท้อนตลาดโลกด้วย ก็ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายประหยัดพลังงานเพื่อลดภาระรายจ่ายให้ต่ำที่สุด”