SCGP จับมือ Origin Materials พัฒนานวัตกรรมระดับโลก ‘Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ’ต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจจากพืชหมุนเวียนสู่พลาสติก Bio-PET ตอบโจทย์ความยั่งยืน
วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (Joint Development Agreement หรือ JDA) กับ Origin Materials (ออริจิ้น แมตทีเรียลส์) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากสหรัฐอเมริกาที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ เพื่อร่วมกันพัฒนา “Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ”
ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับโลกในการนำไม้ยูคาลิปตัส มาผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเปลี่ยนให้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ของ SCGP ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของ SCGP ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value-accretive vertical integration) รวมถึงต่อยอดเพื่อนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์และสินค้าต่าง ๆ อาทิ บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม เพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อม
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ ในการผสานความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 บริษัท โดย SCGP มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาไม้ยูคาลิปตัส และสร้างนวัตกรรมจากไม้ ยูคาลิปตัสอย่างต่อเนื่องเพื่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะที่ Origin Materials เป็นบริษัทระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงได้ร่วมทำการทดลองโดยนำชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ มาผ่านกระบวนการทางเคมี ร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะที่มีประสิทธิภาพจนได้ Bio-PTA และ HTC (“Hydrothermal carbon”)
โดย Bio-PTA สามารถนำไปผลิตเป็น Bio-PET ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับ PET ที่ผลิตจากปิโตรเลียม สามารถนำมารีไซเคิลได้ และสามารถรีไซเคิลพร้อมกับ PET ทั่วไป ในขณะที่ HTC สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์
“SCGP และ Origin Materials ได้ร่วมกันทดลองการผลิตสารตั้งต้นจากไม้ยูคาลิปตัสเพื่อผลิตเป็น Bio-PET ในเบื้องต้น พบว่า คุณภาพของสารตั้งต้นดังกล่าวจากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสมีคุณภาพสูง จึงวางแผนในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่ยั่งยืน ที่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมปกป้องและสร้างความยั่งยืนให้กับโลก” วิชาญ กล่าว