โชว์ 6 ต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมสร้างเศรษฐกิจชุมชน

โชว์ 6 ต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมสร้างเศรษฐกิจชุมชน
กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าปั้นผู้ประกอบการ ขยายเศรษฐกิจชุมชนสร้างมูลค่ากว่า 223 ล้านบาท เปิด 6 โมเดลธุรกิจ ต่อยอดเกษตรอุตสาหกรรม

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ตามนโยบายของ นายเอกนัฐ พร้อมพันธุ์  รมว.อุตสาหกรรม ในการยกระดับเกษตรกรรมสู่เกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการนำระบบบริหารจัดการทางอุตสาหกรรมมาใช้ในการแปรรูป และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรพื้นฐานสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง

ทั้งนี้ได้ดำเนินโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (One Province One Agro -Industrial Community : OPOAI-C) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรไทย มีความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างหน่วยเศรษฐกิจ (Economic Unit) เป็นพลังตัวบวกและตัวคูณทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นภายในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังได้เข้าไปพัฒนาเกษตรกร จำนวน 723 กลุ่ม กว่า 2,434 ราย ผ่านกิจกรรมอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร เช่น การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการตลาด และการบริหารจัดการองค์กรสู่ความยั่งยืน

ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิด สร้างแผนธุรกิจ และจัดทำร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์กว่า 229 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ประเภทอาหาร 143 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม 41 ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 22 ผลิตภัณฑ์ ของใช้/ของประดับ/ของที่ระลึก 22 ผลิตภัณฑ์ ผ้า/เครื่องแต่งกาย 1 ผลิตภัณฑ์

ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรที่เกี่ยวข้องกว่า 44 ล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชนกว่า 223 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ ในด้านต่าง ๆ ของโครงการดังกล่าวฯ จนนำมาสู่ความสำเร็จทางธุรกิจของผู้ประกอบการ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน  โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบรางวัล Best Practice ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นรางวัลแห่งความมุ่งมั่น พัฒนาศักยภาพธุรกิจสู่เป็นผู้ประกอบการดีเด่น จำนวน 6 ราย ได้แก่

1. วิสาหกิจชุมชนแม่หญิงเบญจา จังหวัดกระบี่ พัฒนา "น้ำพริกดูโอ้" ที่รวมน้ำพริกแมงดาและน้ำพริกปลาทูในซองเดียว ได้มาตรฐาน อย. และใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นกว่า 90%

2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดหวาน จังหวัดสุพรรณบุรี พัฒนาผลิตภัณฑ์ "ไอศกรีมข้าวโพดหวาน" มีเกษตรกรร่วมกลุ่ม 150 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 1,200 ไร่ สร้างรายได้ในชุมชนอย่างยั่งยืน

3. วิสาหกิจชุมชนกะปิหวานตาลโตนด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พัฒนา "แยมมะม่วงเบาน้ำปลาหวาน" ที่ผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการผลิตสมัยใหม่ พร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น น้ำสลัด และครีมชีสมะม่วงเบา

4. วิสาหกิจชุมชนสวนผาสุกมัลเบอร์รี่ จังหวัดปราจีนบุรี พัฒนา "มิกซ์เบอร์รี่" ที่รวมสรรพคุณของเบอร์รี่ 5 สายพันธุ์ ไม่เติมน้ำและน้ำตาล ได้รับมาตรฐาน อย. และรางวัล อย. ควอลิตี้ อวอร์ด ปี 2024 พร้อมถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนชุมชนให้ปลูกพืชปลอดสารเคมี  

5.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลไม้ดอนยอ จังหวัดนครนายก พัฒนา "มะม่วงอบแห้งปรุงรสน้ำปลาหวาน" อบแห้งด้วยตู้อบลมร้อนและโดมพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถเก็บรักษาได้นานกว่า 6 เดือน และยังสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่

6. วิสาหกิจชุมชนสกัดน้ำมันหอมระเหยนาทุ่ง จังหวัดชุมพร พัฒนา "ครีมสครับขัดผิวมะพร้าว"ที่นำกากมะพร้าวเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่า พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น แชมพูน้ำมันมะพร้าวผสมสารสกัดสมุนไพร โดยรับซื้อมะพร้าวและพืชสมุนไพรกลิ่นหอมจากชุมชน มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

 “กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวิสาหกิจชุมชนโดยเฉพาะการยกระดับเกษตรกรสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูงเพื่อส่งต่อความสำเร็จทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและมิติทางสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่มองแค่ผลความสำเร็จในด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องมีส่วนร่วมในการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชน  มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งใช้วัตถุดิบและอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในสินค้าและบริการ โดยบทบาทการส่งเสริมผู้ประกอบการคนตัวเล็ก พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอี เชื่อมโยงกับตลาดกว้างและห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรม นับเป็นภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม”

 

 

TAGS: #เศรษฐกิจชุมชน #เกษตรอุตสาหกรรม