ลองนอนกันยัง?!? เมื่อแบรนด์ ’นันยาง’ ขายหมอน ไปต่อกลยุทธ์ลิมิเต็ดผลิตแค่ 500 ใบ

ลองนอนกันยัง?!?  เมื่อแบรนด์ ’นันยาง’ ขายหมอน  ไปต่อกลยุทธ์ลิมิเต็ดผลิตแค่ 500 ใบ
น่าจะไม่ใช่ ‘เอพริล ฟูลเดย์’ เมษาคนโง่แต่อย่างใด หลัง ‘นันยาง’ แบรนด์รองเท้าแตะช้างดาวหันมาขายหมอน ‘นอนยาง’ ยางพารา 100% ผลิตจำกัด500ใบในช่องขายออนไลน์ ดีเดย์วันแรก 1 เม.ย.

‘นันยาง’ อีกหนึ่งสินค้าแบรนด์ไทยภายใต้บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดรองเท้านักเรียนและรองเท้าแตะช้างดาว ที่อยู่คู่เมืองไทยมาร่วม 72 ปี ถึงในวันนี้ ปี2568 กับการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ในกลุ่มสินค้าเครื่องนอน ‘หมอน’ ใช่แล้วอ่านไม่ผิด ‘นันยาง’ ทำหมอนขายภายใต้แบรนด์ ‘หมอนนอนยาง’ (NONYANG) พร้อมประกาศแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ค นันยาง Nanyang ในวันนี้ (1 เม.ย.2568)   

สำหรับ สินค้าหมอนนอนยาง ยังตอกย้ำความเป็นสินค้าไทยด้วยข้อความ ‘หมอนยางพาราแท้ 100% Made in Pattani’ พร้อมกลยุทธ์ผลิตสินค้างจำนวนจำกัด (Limited Edition) ‘หมอนนอนยาง’ SPECIAL EDITION 2025 มีขนาด 14x33x59 ซม. ผลิตออกมา 500 ใบ วางราคาขาย 799 บาท ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ลาซาด้า (ด้วยเมืองลองกดลิงค์ตามไปแล้วปรากฏว่ามีขายจริงๆ)

นอจากนี้ ‘หมอนนานยาง’ ยังสื่อสารการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ด้วย ‘ก็อปปี้ ไรท์’ ที่ออกมาโดนใจชาวโซเชียลทั้งหลายเหล่านี้ อย่าง  

  • พักผ่อนก่อนใส่ให้เต็มที่
  • ‘การพักผ่อน คือการให้รางวัลตัวเองที่ง่ายที่สุด’
  • นอนให้เต็มที่ ใจดีกับตัวเอง ก่อนตื่นขึ้นมาก้าวตามฝัน

แน่นอนว่า การแตกไลน์สินค้าใหม่แบบข้ามขั้วตั้งแต่เท้า(รองเท้า) ขึ้นสู่ ศรีษะ (หมอน) ของบริษัทนันยางฯ ในครั้งนี้ ยังสะท้อนในจุดร่วมเดียวกันคือการใช้ วัสดุหลักอย่าง ‘ยางพารา’ ที่ใช้ผลิตพื้นรองเท้า มาครีเอทสู่สินค้าใหม่อย่าง ‘หมอนนอนยาง’ ที่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจและสร้างยอดขายจนหมดเกลี้ยงได้อีกครั้ง

นั่นหมายความว่า!! ในช่วงเปิดการขายไปตั้งแต่ เวลา 6.00 น. ของวันที่ 31 มีนาคม ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซดังกล่าว หากขายได้หมดหมอนนอนยาง จะทำรายได้ถึง 399,500 บาทได้แบบไม่ยากมากนัก ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นันยาง ถนัดและจัดแคมเปญสินค้าสร้างไวรัล ออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปราว 72 ปีก่อน ในปี 2491 จุดเริ่มต้นแบรนด์รองเท้านันยาง เกิดขึ้นโดย ‘วิชัย ซอโสตถิกุล’ ตั้ง บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด เพื่อนำเข้ารองเท้าผ้าใบจากสิงคโปร์ยี่ห้อ หนำเอี๊ย มาขายในไทย คู่ละ 12 บาท

โดยในช่วงสองปีแรก รองเท้าหนำเอี๊ย ประสบภาวะขาดทุน ก่อนจะเริ่มได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดสำเพ็งและต่างจังหวัด ต่อมามีการปรับเปลี่ยนชื่อสินค้าให้เป็นสากลมากขึ้น จาก ‘หนำเอี๊ย’ ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มาเป็น ‘หนันยาง’ ในภาษาจีนกลาง แต่เพื่อให้คนไทยเรียกง่ายและติดปาก จึงใช้ชื่อว่า ‘นันยาง’

ต่อมาก ‘นันยาง’ ตราช้างดาว ได้จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ในปี 2492 ก่อนที่ วิชัย-บุญสม ซอโสตถิกุล จะร่วมสร้างตำนานรองเท้า นันยาง ในประเทศไทย ด้วยการก่อตั้ง บริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย) จำกัด ในปี 2496

สำหรับ ผลประกอบการ 5 ปี พ.ศ. 2562-2566 (ปีล่าสุด 2567 ยังไม่ออก) ของ บริษัท นันยาง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มีดังนี้

  • ปี 2562 รายได้ 1,243 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32.7 ล้านบาท
  • ปี 2563รายได้ 1,297 ล้านบาท กำไรสุทธิ  30  ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 1,316 ล้านบาท กำไรสุทธิ  40 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 1,304 ล้านบาท กำไรสุทธิ  37.1 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 1,486 ล้านบาท กำไรสุทธิ  42 ล้านบาท