ลดค่าไฟ 7 ส.ต.ตามคาด กกพ.ชี้เลิกเอฟทีเสี่ยงต้นทุนพุ่งเร็วกว่าเดิม

ลดค่าไฟ 7 ส.ต.ตามคาด กกพ.ชี้เลิกเอฟทีเสี่ยงต้นทุนพุ่งเร็วกว่าเดิม
บอร์ดกกพ.ไฟเขียวกดค่าไฟเหลือหน่วยละ 4.70 บาท ขณะที่ยืดจ่ายหนี้กฟผ.เป็น 7 งวด ย้ำเลิกเอฟทีทำได้แต่ค่าเชื้อเพลิงสะท้อนต้นทุนเร็ว

นายคมกฤช  ตันตระวาณิชย์   เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ดกกพ.)ว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค. ลง 7 สต. ส่งผลให้ค่าเอฟทีอยู่ที่ 91.27 สตางค์ต่อหน่วย และทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย มีผลในบิลค่าไฟฟ้าเริ่มเดือนพ.ค.นี้

การปรับค่าเอฟทีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะ เนื่องจากไม่ได้ทำให้สมมติฐานเดิมในการคำนวณค่าเอฟทีเปลี่ยนแปลงไป  แต่ส่งผลเฉพาะสถานะทางการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่จะได้รับการชำระหนี้คืนจากการดูแลค่าเอฟทีในช่วงที่ผ่านมาช้าออกไป

ทั้งนี้กฟผ.เป็นฝ่ายเสนอเสนอเงื่อนไขการรับภาระหนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนจากเดิมกำหนดชำระหนี้เป็น 6 งวดขยายเป็น 7 งวด จากหนี้สะสมที่มีอยู่ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งการยืดหนี้จะทำให้กฟผ.ได้รับเงินลดลงจากเดิม  4,623  ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวถึงแนวโน้มค่าเอฟทีงวดสุดท้าย(ก.ย.-ธ.ค.66)ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือ 1. ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณ  ซึ่งเดิมจะมีปริมาณก๊าซฯเพิ่มจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวันเป็น 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในเดือนมิ.ย.อาจต้องล่าช้าออกไปเป็นก.ค.  ขณะที่ราคา LNG ตลาดโลก มีราคาแพงเพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว

สำหรับกรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอให้ยกเลิกค่าเอฟที นั้นต้องเข้าใจว่าค่าไฟฟ้าปัจจุบันแบ่งเป็นค่าไฟฐานและค่า เอฟที ซึ่งค่าไฟฐานจะเปลี่ยนแปลงทุก 5 ปีโดยเป็นการนำเงินลงทุนต่างๆมาเป็นฐานคิด แต่เอฟที จะนำเอาค่าเชื้อเพลิงหรือปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรือมีความผันผวนตามราคาเชื้อเพลิง หากยกเลิกเท่ากับต้องต้นทุนค่าเอฟทีไปบวกรวมในค่าไฟฐานที่อาจจะแพงอย่างมากหรือต่ำลงเกินความเป็นจริงจนทำให้เกิดภาระอย่างมาก

 นอกจากนี้ถ้าไม่มีค่าเอฟที ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะเลือกการบริหารสูตรค่าไฟแบบไหน  หรือจะเป็นเหมือนต่างประเทศ ที่ใช้ระบบตลาดเสรี เช่น ยุโรป  หรือมี 2 ระบบเหมือนสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงขึ้น 3 เท่า เพราะสะท้อนต้นทุนราคาก๊าซฯที่ปรับเพิ่มขึ้นทันที

ส่วนข้อเสนอให้ประกาศค่าเอฟทีเร็วขึ้นทุกๆ 3 เดือน จากปัจจุบันที่ประกาศทุก 4 เดือน นั้นต้องเข้าใจก่อนว่า ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอเองให้ประกาศค่าเอฟทีทุก4 เดือนเพราะต้องการนำไปพิจารณาวางแผนต้นทุนผลิตสินค้าเพื่อส่งออก แต่ถ้าหากมีการเสนอให้ทบทวนอีกก็พร้อมจะรับฟังปัญหา

 

TAGS: #ค่าเอฟที #ค่าไฟฟ้า #ก๊าซธรรมชาติ #แหล่งก๊าซ