ความพยายามรัฐบาลในการเดินหน้าหาแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพ เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงในระยะยาว
โดยเฉพาะการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล Overlapping Claims Area:( OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา ต้องอาศัยกลไกการทำงานภาครัฐเป็นหลัก ทั้งรัฐบาล กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวงพลังงาน
จนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee ) หรือ JTC ฝ่ายไทย เพื่อใช้เป็นกระบวนการเจรจา ตามบันทึกความเข้าใจที่ตกลงไว้ร่วมกัน หรือ Memorandum of Understanding between the Royal Thai Government and the Royal Government of Cambodia regarding the Area of their Overlapping Maritime Claims to the Continental Shelf ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 หรือเรียกว่า MOU 2544
ทั้งนี้หากล่าช้าจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการนำแหล่งพลังงานที่คาดว่าจะมีก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสูงในพื้นที่ OCA มาใช้ประโยชน์กับประเทศในอนาคต โดยเฉพาะความสำคัญในการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่ใกล้กับแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ไทยกำลังผลิตอยู่ เช่น แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ดังนั้นหากสามารถพัฒนาได้ อาจช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติให้กับไทย เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม
ปัจจุบันไทยยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG (Liquefied Natural Gas) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี เนื่องจากแหล่งผลิตก๊าซในอ่าวไทยเริ่มทยอยลดลง โดยสัดส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เอง อยู่ที่ 51.27 % จากเดิมที่เคยผลิตได้ถึง 70-80 % แหล่งก๊าซฯเมียนมา 12.82 % และนำเข้า LNG 35.91%
สำหรับการนำเข้า LNG ปี 2565 อยู่ที่ 9.7 ล้านตัน ในปี 2566 นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ล้านตัน ขณะที่ปี 2567 นำเข้าไม่ต่ำกว่า 11 ล้านตัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องนำเข้าLNG ต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ที่ขยายตัว โดยเฉพาะแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าช่วง 2 ปีนี้ที่ผ่านมาจากสภาพอากาศร้อนจัดมากขึ้น ส่งผลให้ปี 2566 ยอดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 7% จากเดิมเฉลี่ยขยายตัวปีละ 2% และในปี 2567 นี้ การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5-6% แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีความต้องการปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและทำให้ให้ปริมาณก๊าซฯที่ใช้ผลิตไฟฟ้าก็สูงขึ้นตามไปด้วย
.
ด้านดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ไทยยังมีความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นประเทศที่น่าลงทุน จะเห็นได้จากการเข้ามาลงทุนของธุรกิจ Data Center จำนวนมาก เมื่อเทียบกับการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนว่า ความมั่นคงด้านพลังงานถือเป็นจุดที่สำคัญกว่าราคาค่าไฟฟ้า ที่จะตัดสินใจเลือกประเทศที่จะมาลงทุน
.
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงงานจากต่างประเทศเข้ามามากจะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น และแหล่งผลิตภายในประเทศจากอ่าวไทยการผลิตลดลงเรื่อย ๆ ทางกระทรวงพลังงานพยายามหาทางที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าถึงมือประชาชนราคาถูกที่สุด โดยเร่งจัดหาและใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานในประเทศ ทั้งการเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบก รอบ 25 และรอบที่ 26 ในทะเล รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ OCA ที่เป็นความหวังในอนาคตว่า จะเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยลดการนำเข้าก๊าซ LNG ของประเทศลงได้
.
ขณะที่ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย (อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน) กล่าวว่า นโยบายพลังงานมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศมากและควรสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยและเพื่อนบ้านทุกประเทศกำลังประสบชะตากรรมร่วมกันจากวิกฤติราคาพลังงานแพง ไม่ว่าจะน้ำมันแพง ก๊าซหุงต้มแพง หรือไฟฟ้าแพง ซึ่งเป็นผลจากภาวะความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก
ภาวะตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อในยุโรป สาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงานโลกค่อนข้างมาก ก็เพราะแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของเรามีปริมาณสำรองจำกัดและมีกำลังผลิตที่ลดต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง เมื่อก๊าซธรรมชาติในประเทศผลิตได้น้อยลง ไทยจึงต้องนำเข้า LNG เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี
.
ทั้งนี้ส่งผลให้แนวโน้มค่าไฟฟ้ารวมถึงเชื้อเพลิงก๊าซที่ใช้แพร่หลายในอุตสาหกรรม จึงขยับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนราคา LNG ที่แพงขึ้นๆ ประเทศจึงตกอยู่ในความเสี่ยงด้าน Energy Supply เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักเพื่อการผลิตไฟฟ้าและเป็นต้นทางของอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ การพยายามเสาะแสวงหาและพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติภายในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์ จึงควรเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ที่รัฐบาลพึงผลักดันเกิดผลโดยเร็ว
.
ดังนั้นความเกี่ยวพันกันระหว่างนโยบายต่างประเทศและนโยบายพลังงาน รวมไปถึงนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงมีความจำเป็น โดยเชื่อมโยงกับการสำรวจพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติกับและพื้นที่ OCA รัฐบาลไทยควรเร่งรัดเดินหน้าเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ OCA กับกัมพูชาภายใต้กรอบ MOU2544 ดังเช่นที่รัฐบาลชุดก่อนดำเนินการมาแต่ยังไม่สำเร็จ โดยหาข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แปลงความขัดแย้ง (conflicts) ให้กลับมาเป็นโอกาส (opportunities) การตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) และปิโตรเคมีในอนาคต และจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศลงได้อีกส่วนหนึ่งด้วย”
.
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคในการเดินหน้าเจรจาพื้นที่ OCA เนื่องจากข้อพิพาททางกฎหมายและการเมืองไทยและกัมพูชายังไม่มีข้อตกลงร่วมกันในการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่นี้ต้องมีการเจรจาทางการทูตเพื่อหาทางออกที่เป็นธรรมสำหรับทั้งสองฝ่าย
ขณะที่ยังมีความท้าทายด้านเทคนิคและการลงทุนหากมีข้อตกลง ยังต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานต้องร่วมมือกับบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ในการดำเนินโครงการ
ท้ายสุดคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ OCA ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญต่อการแสวงหาแหล่งพลังงานของไทย เพราะมีส่วนสนับสนุนการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ ลดการนำเข้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต เวลานี้คงต้องรอความชัดเจนในการขับเคลื่อนจากรัฐบาลจะเดินเกมนี้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างไร
####