สหรัฐฯขึ้นภาษีกระทบส่งออกไทยวูบ 3.5 แสนล้าน

สหรัฐฯขึ้นภาษีกระทบส่งออกไทยวูบ 3.5 แสนล้าน
ม.หอการค้าไทยประเมินภาษีตอบโต้สหรัฐมากกว่าที่คาดไว้ ห่วงฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 2 %  รอท่าทีรัฐบาลเร่งเจรจาลดผลกระทบโดยเร็ว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   เปิดเผยถึง การประกาศปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้สินค้าส่งออกไปสหรัฐถูกเรียกเก็บร้อยละ 37 มีผลวันที่  9 เม.ย.นี้ ซึ่งอัตราภาษีที่ออกมามากกว่าที่เคยประมาณการณ์เอาไว้ที่ 10-15% อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ประมาณการณ์ไว้ในระดับ 2.5-3.0%

นอกจากนี้จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลงประมาณ 359,104 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ -1.93% ของ GDP โดยเป็นผลกระทบทางตรงจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง 300,237 ล้านบาท  ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (2,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 69,492 ล้านบาท) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (1,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 47,533 ล้านบาท) และอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม 1,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 34,843 ล้านบาท)

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม จากการส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ:  ซึ่งการขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 54% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับจีนประมาณ 1,103 ล้านดอลลาร์ฯ (38,063 ล้านบาท)

นอกจากนี้การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน: เมื่อจีนได้มีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 10-15% วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนลดลงประมาณ 16 ล้านดอลลาร์ฯ (552 ล้านบาท)

รวมถึงการส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานเม็กซิโก-สหรัฐฯ: การขึ้นภาษีสินค้าเม็กซิโกอีก 25% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับเม็กซิโกประมาณ 420 ล้านดอลลาร์ฯ (14,490 ล้านบาท) และการส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานแคนาดา-สหรัฐฯ: การขึ้นภาษีสินค้าของแคนาดาอีก 25% สำหรับสินค้าทั่วไป และ 10% สำหรับสินค้ากลุ่มพลังงาน อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับแคนาดาประมาณ 76 ล้านดอลลาร์ฯ (2,662 ล้านบาท)

ดังนั้นในภาพรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจปี 2568 จะโตต่ำกว่า 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทั้งนี้การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่าถึงร้อยละ 20 ของ GDP ประเทศ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกอาจขยายตัวไม่ถึง 2% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะชะลอตัวทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอาจไม่ถึงเป้า 38- 39 ล้านคน ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะต้องเผชิญกับสงครามการค้าเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะต้องติดตามว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอย่างไรรวมถึงไทย และสหรัฐจะมีการชะลอมาตรการกำแพงภาษีหรือไม่ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

TAGS: #ม.หอการค้าไทย #ภาษีตอบโต้สหรัฐ #จีดีพี #ส่งออก