‘ไพศาล อ่าวสถาพร’ วางมิสชั่นกลุ่มธุรกิจอาหารเครือไทยเบฟ ‘รวมเป็นหนึ่งเดียว’ ปรับแนวบริหาร/ทำแบรนด์ใหม่รับเทรนด์อาหารโลก/ท้องถิ่น เจาะตลาดรวม 7 แสนล.
ไพศาล อ่าวสถาพร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) เผยวิสัยทัศน์หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพื่อดูแลภาพรวมธุรกิจอาหาร เครือไทยเบฟเวอเรจในประเทศไทย พร้อมวางเป้าหมายธุรกิจให้สอดคล้องพันธกิจไทยเบฟ MISSION 2030 ตามที่ประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยเบฟ ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
โดยแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจอาหารไทยเบฟ ด้วยแนวคิด ‘ONE FOOD – ONE TEAM – ONE GOAL’ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมจัดโครงสร้างใหม่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้
- กลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเครือโออิชิ (OISHI) ประกอบด้วย 11 แบรนด์ ภายใต้การบริหารของ ‘ศสัย ตังเดชะหิรัญ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ โฮลดิ้ง จำกัด
- กลุ่มคิวเอสอาร์ (QSA) ธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant-QSR) หนึ่งในผู้รับสิทธิ์บริหารแฟรนไชส์เคเอฟซี ประเทศไทย ภายใต้การบริหารของ ‘อรณัฐร์ ผกาภรณ์รัตน์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด
- กลุ่มเอฟโอเอ (FOA) ธุรกิจร้านอาหารครบวงจร/ประเภท อาหารจีน, อาเซียน, ตะวันตก รวมไปถึงเค้กและเบเกอรี่ ภายใต้การบริหารของ ธารินทร์ รินธนาเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด
“ในฐานะผู้บริหารกลุ่มอาหารไทยเบฟ วางเป้าหมายหลัก คือสนับสนุนพร้อมผลักดันทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจให้เติบโตสอดคล้องกับ MISSION 2030 ของไทยเบฟฯที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้” ไพศาลกล่าว พร้อมเสริมว่า
“กลุ่มธุรกิจอาหารไทยเบฟจะยังเป็นเอาต์เล็ตสำคัญ ในการโชว์เคสผลิตภัณฑ์ต่างๆในธุรกิจหลักเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และนัน-แอลกอฮอล์ของไทยเบฟ ที่ปัจจุบันมีร้านอาหารทุกแบรนด์ในเครือรวมกัน 847 สาขาทั่วประเทศ”
สำหรับในปี 2568 กลุ่มธุรกิจอาหารไทยเบฟ เตรียมงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจสาขาของแต่ละแบรนด์ร้านอาหาร ของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ (โออิชิ, คิวเอสเอ และ เอฟโอเอ) ซึ่งจะให้สัดส่วนขยายสาขามากที่สุดในกลุ่มโออิชิและเคเอฟซี จากปัจจุบันมีสาขาภายใต้แบรนด์โออิชิ 284 แห่ง, กลุ่มคิวเอสเอ มีสาขาร้านเคเอฟซี ราว 500 แห่ง และ เอฟโอเอ ราว 63 แห่ง
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจอาหารไทยเบฟ ยังวางแผนพัฒนาธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติมในอนาคต เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในตลาดระดับท้องถิ่นและตลาดโลก
ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยตลาดรวมร้านอาหารในไทยคาดมีมูลค่าราว 7 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าตลาดมีมูลค่าอัตราการเติบโตคงที่ จากรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดเฉลี่ย 1,000ในปี 2567 และปิดกิจการไปราว 800 ราย
จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทฯ มองว่ายังมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจเพื่อเข้าถึงความต้องการผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนตัวตามกระแสโลกที่เกิดขึ้น
สำหรับเทรนด์อาหารระดับโลก 2025 มีดังนี้
- Unusual Ingredients ความสร้างสรรค์วัตถุดิบใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร
- Gut Health จุดเริ่มต้นของสุขภาพดี สมองดี เริ่มต้นที่อาหารและระบบทางเดินอาหารที่ดี
- Sustainability ความรักษ์โลก การใช้ทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนได้ถูกปลูปฝังใน DNA ของคนรุ่นใหม่
- AI & Automated Technology เพิ่มประสิทธิภาพ/วางแผนระบบห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุน/ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
- Local Food Culture อาหารเป็นมากกว่าอาหาร แต่เป็นการผสมผสานและแสดงออกถึงวัฒนธรรมแต่บะพื้นที่
ขณะที่เทรนด์อาหารประเทศไทย 2025 มีดังนี้
- Value for Money, Yet High Value ความคุ้มค่าที่ต้อง ‘ทำถึง’
- Casual Fine Dining ความลักซูที่เข้าถึงได้
- Beyond Food, But Experience มากกว่าอิ่มท้อง อิ่มถึงความรู้สึก
- Local Ingredient เสน่ห์ของความเป็นไทย
- Digital & AI เพิ่มประสิทธิภาพเข้าใจผู้บริโภค
- Sustainability รักษ์โลกลดwaste เพื่อความยั่งยืน
- Tourist ต่างชาติต่างความชอบ
- Busy & Lazy ตัวช่วยเพื่อชีวิตเร่งรีบ
“เทรนด์ระดับโลกจะเกิดขึ้นล่วงหน้า3 ปีก่อนเข้ามายังเอเชีย หรือหากเกิดในเอเชียแล้วจะใช้เวลาราว3ปีไปเกิดในระดับโลก ซึ่งบริษัทฯ จะเลือกหยิบเทรนด์และนำมาปรับใช้ในการทำธุรกิจในไทย พร้อมวางเป้าหมายทวงแชมป์ในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นของโออิชิให้กลับมา” ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย