‘พาณิชย์’แจงไทม์ไลน์สหรัฐขึ้นภาษี เริ่ม 9 เม.ย.

‘พาณิชย์’แจงไทม์ไลน์สหรัฐขึ้นภาษี เริ่ม 9 เม.ย.
รัฐบาลเดินหน้าเจรจาสหรัฐลดภาษี พร้อมหามาตรการลดผลกระทบผู้ส่งออก มองตลาดกำลังซื้อสูง ตลาดฮาลาล และตลาดเกิดใหม่ เร่งปิดดีล FTA ที่มีศักยภาพควบคู่กันไป ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา

นายวุฒิไกร  ลีวีระพันธุ์  ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา  เปิดเผยว่า การประกาศเก็บภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) กับสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯนั้นเป็นการคำนวณโดยนำตัวเลขการขาดดุลและมูลค่าการนำเข้าทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้ามาคำนวณ ซึ่งในส่วนของไทยคำนวณออกมาแล้วมีอัตราภาษี 36%

ทั้งนี้ในช่วงแรกสหรัฐฯจะเริ่มเก็บภาษีเพิ่มตั้งแต่เวลา 00:01 น.ของวันที่ 5 เมษายน 2568 (เวลาสหรัฐฯ) ในอัตรา 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากทุกประเทศ ส่วนสินค้าที่ขนลงเรือหรือยานพาหนะแล้วและอยู่ระหว่างเดินทางมายังสหรัฐฯ ก่อนเวลาดังกล่าว จะยังไม่ถูกเก็บภาษีดังกล่าว ก่อนเวลา 00.01 ของวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ทั้งนี้ ภาษี 10% จะเป็นการเก็บเพิ่มจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่แล้ว (MFN apply rate) รวมทั้งอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แต่ละประเทศถูกจัดเก็บอยู่เดิม

ขณะที่หลังจากนั้น ในช่วงที่สอง ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 9 เมษายน 2568 สหรัฐฯ ก็จะเริ่มเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ตามอัตราเฉพาะที่กำหนดสำหรับแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% โดยจะเก็บเพิ่มจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่แล้ว (MFN apply rate) รวมทั้งอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ประเทศนั้นถูกจัดเก็บอยู่เดิม อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าที่ขนลงเรือหรือยานพาหนะแล้วและอยู่ระหว่างเดินทางมายังสหรัฐฯ ก่อนเวลาดังกล่าว ก็จะยังได้รับยกเว้นไม่ถูกเก็บภาษี 36% ดังกล่าว

สำหรับอัตราภาษีต่างตอบแทนข้างต้นจะไม่ใช้กับสินค้าที่สหรัฐฯ ได้เคยประกาศใช้มาตรการไปก่อนหน้านี้ คือ วันที่ 12 มีนาคม 2568 สินค้าเหล็กและอลูมิเนียม ถูกจัดเก็บอัตราภาษีเฉพาะที่ 25%  และวันที่ 3 เมษายน 2568 สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน ถูกจัดเก็บอัตราภาษีเฉพาะที่ 25%  

นอกจากนี้ภาษีต่างตอบแทนดังกล่าวยังจะไม่ใช้กับสินค้าประเภททองแดง ยาและเวชภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป แร่ธาตุสำคัญบางประเภท พลังงานและผลิตภัณฑ์พลังงาน เนื่องจากสหรัฐฯ อาจจะมีการประกาศใช้ภาษีเฉพาะกับสินค้าดังกล่าวในภายหลัง ซึ่งคาดว่าจะเก็บเพิ่มในอัตรา 25% ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะกำหนดอัตราภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทนเป็นรายประเทศ แต่ก็เปิดโอกาสสำหรับการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้าให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น โดยสหรัฐฯ มุ่งหวังที่จะลดการขาดดุลการค้าและเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศผ่าน การเจรจาและการปรับปรุงข้อตกลงทางการค้า ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาข้อเสนอของคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การเจรจาปรับลด/ยกเว้นอัตราภาษีต่างตอบแทนดังกล่าวที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากประเทศไทย

นอกจากนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก รวมทั้งเร่งพิจารณาส่งเสริมการขยายตลาดใหม่ทดแทนโดยมุ่งตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ตลาดฮาลาล และตลาดเกิดใหม่ พร้อมเร่งเดินหน้าการเจรจา FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และพิจารณา FTA ในตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพควบคู่กันไป ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา

 

 

TAGS: #ลดภาษี #ผู้ส่งออก #FTA #สหรัฐขึ้นภาษี