SCB EIC วิเคราะห์หนัก ส่งออกไทยกระทบ ‘ภาษีทรัมป์’ เตรียมรับมือ ‘สงครามการค้า’ ยืดเยื้อ

SCB EIC วิเคราะห์หนัก ส่งออกไทยกระทบ ‘ภาษีทรัมป์’ เตรียมรับมือ ‘สงครามการค้า’ ยืดเยื้อ
SCB EIC  มองเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ใน 90 วัน เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจไทย ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ตั้งรับเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ 'ความปั่นป่วน' เป็นเรื่องปกติใหม่

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) พร้อมทีมวิจัยฯ เผยบทความระบุ  

แม้ทรัมป์จะประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบออกไปอีก 90 วัน แต่ก็จะไม่ช่วยให้ธุรกิจไทยรอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาได้

โดยการเก็บภาษีตอบโต้ที่ระดับ 10% ในระยะ 90 วัน อาจช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทยได้บางส่วน

อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า ภาคธุรกิจไทย ก็จะยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากกฎกติการการค้าโลกที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

โดยไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใดธุรกิจไทยก็จะยังคงได้รับผลกระทบทั้งทางตรง (Direct impact) ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ และทางอ้อม (Indirect impact) อีกหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น

  1.  ความต้องการสินค้าขั้นกลางจากประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ของไทยที่อาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่มีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯซึ่งจีนโดนกำแพงภาษีในอัตราที่สูงถึง 145%
  2. สินค้าจีนมีแนวโน้มทะลักเข้ามาในไทยและตลาดโลกมากขึ้น
  3. อุปสงค์ต่อสินค้าในตลาดโลกโดยรวมมีแนวโน้มแผ่วลง
  4. การเปิดตลาดสินค้าบางประเภทเพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองลดแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ
  5. ไทยอาจได้รับอานิสงส์ในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากประเทศที่มีการออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ

ขณะที่ผลกระทบในระยะต่อไปที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ แนวโน้มการปรับเปลี่ยนและออกแบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลกที่อาจส่งผลให้มีการชะลอการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตออกจากไทย และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยตามมาได้

SCB EIC ประเมินว่ากรณีที่ไทยโดนภาษีตอบโต้ ที่ 36% ในช่วงครึ่งปีหลัง กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับสูง ได้แก่

1. ชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์

2.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

3. ผลิตภัณฑ์พลาสติก

4. เหล็ก

5. ยางพาราและไม้ยางพารา

6. สินค้าประมงโดยเฉพาะกุ้ง สิ่งทอ

7. แผงโซลาร์เซลล์

8. ส่วนประกอบ ถุงมือยาง เป็นต้น

สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับปานกลาง

1.กลุ่มสินค้าเกษตรอื่น ๆ ผักผลไม้สดและแปรรูป

2. เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป ยานยนต์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น

 

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับต่ำ ได้แก่

1. ข้าว

2. นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มต่าง ๆ

นอกจากนี้ ระดับความรุนแรงของผลกระทบจาก Reciprocal tariffs ต่อภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเงื่อนเวลา เนื่องจากยิ่งภาษีถูกใช้นานขึ้น ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้น สอดคล้องกับค่าความยืดหยุ่นของความต้องการนำเข้าต่อราคาที่สูงขึ้นตามระยะเวลา

โดยหากใช้สมมติฐานการวิเคราะห์โดยกำหนดให้ Reciprocal tariffs อยู่ที่ระดับ 36% โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ลดลงสะสมราว 8.1 แสนล้านบาท เมื่อมีการบังคับใช้มาตรการด้านภาษีครบ5 ปี

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อออกไป

ทั้งนี้การชะลอการเก็บภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบของสหรัฐฯออกไปอีก 90 วัน ซึ่งทุกประเทศรวมทั้งไทยจะโดนเก็บภาษีที่อัตราพื้นฐาน (Universal rate) ที่ 10% (ยกเว้นจีนซึ่งโดนเก็บที่ 145% ทันที) จะช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทยได้บางส่วน จากอานิสงส์ 3 ประการ ได้แก่

  1. การเร่งส่งออกสินค้าในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างเต็มรูปแบบกับไทย อย่างไรก็ดี ผลบวกในด้านนี้อาจถูกลดทอนลงได้ เนื่องจากมีการเร่งส่งออกสินค้าไปบ้างแล้วบางส่วนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
  2. ระดับภาษีที่ไทยถูกเก็บจากสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 90 วันต่อจากนี้ จะอยู่ในระดับเดียวกันกับคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในระยะสั้น ๆ เอาไว้ได้
  3. โอกาสในการเข้ามาทดแทนการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯและจากตลาดสหรัฐฯ ไปยังจีน โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยมีอุปทานในประเทศและมีกำลังการผลิตส่วนเหลือมากเพียงพอ

 

ใช้ 4P รับมือ ทรัมป์ 2.0

 

SCB EIC ประเมินว่าผู้ประกอบการไทยสามารถใช้กลยุทธ์ 4P ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายของ Trump 2.0 และจากปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ยังอ่อนแอ ประกอบด้วย

 

  1. Product : พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์/แตกต่าง/สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า
  2. Place : กระจายตลาด
  3. Preparedness : บริหารความเสี่ยงในทุกมิติทั้ง Supply chain และ Balance sheet
  4. Productivity : การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และถือโอกาสใช้วิกฤติครั้งนี้ยกเครื่องโครงสร้างการผลิตของไทยให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปเพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

นโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยอย่างไร?

 

นโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในหลายมิติ ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบได้ทั้งในเชิงลบและเชิงบวก

โดยผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบทางตรงจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการภาษีตอบโต้ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย

โดยเฉพาะจากประเทศคู่แข่งที่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าไทย ในทางกลับกัน หากประเทศคู่แข่งถูกเก็บภาษีสูงกว่าก็จะส่งผลบวกต่อไทย ทั้งนี้ความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีอาจส่งผลให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อในระยะสั้น

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจไทยยังจะได้รับผลกระทบทางอ้อม ผ่าน 6 ช่องทาง

ดังนี้

  1. การส่งออกสินค้าขั้นกลางไปประเทศต่าง ๆ ที่โดน Reciprocal tariffs ภาษีตอบโต้ที่ประเทศคู่ค้าของไทยถูกเรียกเก็บ จะทำให้ประเทศคู่ค้าของไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าขั้นกลางเพื่อไปผลิตสินค้าขั้นปลายสำหรับส่งออก ต่อไปยังสหรัฐฯ ปรับลดลงตามไปด้วย
  2. ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยและการแข่งขันกับสินค้าจีนที่รุนแรงมากขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะทำให้ปัญหาอุปทานส่วนเกินในจีนรุนแรงขึ้น ผลักดันให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยและการส่งออกของจีนไปยังตลาดอื่น ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจีนรุนแรงขึ้นทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ
  3. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยจากผลของมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งธุรกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออก รวมถึงธุรกิจบริการที่พึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยว
  4. การเปิดตลาดสินค้าบางประเภทเพื่อเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ โดยรัฐบาลไทยอาจยินยอมเปิดตลาดนำเข้าสินค้า บางชนิดจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกหากสินค้าดังกล่าวไทยผลิตเองไม่ได้และจำเป็นต้องนำเข้า แต่จะส่งผลลบหากสินค้าดังกล่าวมีการผลิตในไทยและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก
  5. การส่งออกสินค้าไปประเทศที่มีมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ช่องทางนี้จะส่งผลบวกต่อธุรกิจไทย เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ สินค้าสหรัฐฯ ในประเทศที่มีมาตรการตอบโต้กำแพงภาษีของสหรัฐฯ
  6. การปรับเปลี่ยน Supply chain โดยผู้ประกอบการต่างชาติที่มาลงทุนในไทยเพื่อใช้ประโยชน์ด้านภาษีเพื่อการส่งออกไปสหรัฐฯ อาจจะชะลอการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตออกจากไทย

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการล่าสุดซึ่งเน้นการขึ้นกำแพงภาษีแบบเฉพาะเจาะจงกับสินค้านำเข้าจากจีน ขณะที่การขึ้นภาษีตอบโต้แบบเต็มรูปแบบสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ได้มีการประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ จะถูกเลื่อนออกไปอีก 90 วัน โดยที่ยังคงเก็บอัตราภาษีพื้นฐานที่ระดับ 10% ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทย จากปัจจัยหนุน 3 ประการ ได้แก่

  1. การเร่งส่งออกสินค้าในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างเต็มรูปแบบที่ 36% กับไทย อย่างไรก็ดี ผลบวกด้านนี้อาจถูกลดทอนลง

เนื่องจากมีการเร่งส่งออกสินค้าบางประเภทไปบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

  1. ระดับภาษีที่ไทยถูกเก็บจะอยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่งในระยะ 90 วันต่อจากนี้ซึ่งในระยะสั้นจะช่วยให้ไทยไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
  2. โอกาสในการเข้ามาทดแทนการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯหลังจากที่จีนต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าที่สูงถึง 145% และโอกาสในการเข้ามาทดแทนการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ ไปจีน โดยปัจจัยข้อแรกจะช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก ในขณะที่ปัจจัยที่ 2 และ 3 จะช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อสินค้าส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ถุงมือยาง ปาล์มน้ำมัน อาหารสัตว์เลี้ยง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการ Reciprocal tariffs เต็มรูปแบบจะถูกเลื่อนออกไป แต่ทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ยังคงมุ่งเน้นเป้าหมายในการลดการขาดดุลทางการค้าและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้นโยบายกีดกันทางการค้ายังมีแนวโน้มถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ซึ่งความไม่แน่นอนและความผันผวนของมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลานั้น จะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อภาคธุรกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

SCB EIC ได้จัดทำการประเมินระดับผลกระทบรายธุรกิจ ภายใต้สมมติฐานที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025

ไทยจะโดนเก็บภาษีตอบโต้ที่ 36% และประเทศอื่น ๆ ก็จะถูกเก็บภาษีตอบโต้ตามอัตราที่ทรัมป์ได้เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งภายใต้สมมติฐานดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ ในระดับที่แตกต่างกันไป โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับกลไกการส่งผ่านผลกระทบผ่าน 4 ช่องทางสำคัญ ได้แก่

  1. ระดับการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อัตราภาษีของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และความสามารถของสหรัฐฯ ในการหาสินค้าทดแทนสินค้าไทย
  2. ระดับการพึ่งพาการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่จีนมีการผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯอีกทอดหนึ่ง
  3. ระดับการพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดโลก
  4. ปัญหาสินค้าจีนทะลัก

ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบในระดับสูง คือ กลุ่มธุรกิจที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนสูง และมีโอกาสสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากการที่ไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งค่อนข้างมาก อีกทั้ง สหรัฐฯ ก็สามารถหาสินค้าทดแทนจากแหล่งอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์

ขณะที่กลุ่มธุรกิจของไทยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตจีนเพื่อการส่งออกไปสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากการชะลอตัวของการส่งออกของจีน เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางพาราและไม้ยางพารา

นอกจากนี้ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกค่อนข้างมากจะเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น อีกทั้ง ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบสูงยังเป็นกลุ่มที่จะเผชิญกับปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามารุนแรงมากขึ้นจากปัญหา Overcapacity ของจีนที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรอื่น ๆ ผักผลไม้สดและแปรรูป เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป ยานยนต์ ถุงมือยาง เม็ดพลาสติก เป็นต้น

 

ผลกระทบต่อภาคธุรกิจรายอุตสาหกรรม

 

ในกรณีที่ไทยโดนภาษีตอบโต้ที่ 36% ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับสูง

อิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในระดับสูง โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะได้รับผลกระทบทางตรง ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 67%, 59%, 38% และ 30% ตามลำดับ

นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลของนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอลง และแม้แต่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในกระแสนวัตกรรมใหม่ เช่น AI และ EV ก็คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก

อย่างไรก็ตาม การเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบออกไปอีก 90 วัน อาจจะช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบในระยะสั้นต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ของไทยไปตลาดสหรัฐฯ ในบางหมวดสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 และระยะต่อไป คาดว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น จากทั้งนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นไทยจะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอย่างเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อป้องกันการย้ายฐานการผลิตออกจากไทย และหนุนให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นฮับเทคโนโลยีที่สำคัญของอาเซียน และมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ผลิตภัณฑ์พลาสติกได้รับผลกระทบทางตรงในระดับสูง เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปประเภทแผ่นฟิล์มพลาสติก ถุง และบรรจุภัณฑ์ ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 17-25% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าพลาสติกสำเร็จรูปที่ไทยส่งออกทั้งหมด

อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไทยส่งออกไปทั้งหมด

ส่งผลให้ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า เช่น เกาหลี (25%) หรืออินเดีย (26%) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีโอกาสได้รับผลเชิงบวกได้ หากสหรัฐฯ เก็บภาษีในอัตราที่เท่ากันทุกประเทศและยังคงภาษีต่อจีนไว้ที่ 145% เนื่องจากจีนเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังสหรัฐฯในลำดับต้น ๆ

เหล็ก แม้ว่าจะได้รับผลกระทบทางตรงในระดับต่ำแต่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมในระดับสูงโดยในส่วนของผลกระทบทางตรงที่ต่ำ เนื่องจากไทยยังมีการส่งออกสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กไปตลาดโลกเป็นสัดส่วนน้อย อยู่ที่ราว 2% ของมูลค่าการส่งออกรวมโดยมีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 18% ของการส่งออกสินค้าเหล็กทั้งหมดของไทย

นอกจากนี้ สินค้าเหล็กไม่อยู่ในกลุ่มที่ถูกใช้อัตราภาษี 36% ตาม Reciprocal tariff แต่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีนำเข้าตามมาตรา 232 (ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962) ที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กที่ 25% และถูกใช้อัตรานี้ มาตั้งแต่ปี 2018 อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามสินค้าเหล็กได้รับผลกระทบทางอ้อมในระดับสูง ทั้งจากการทะลักเข้ามาของเหล็กจากจีนมากขึ้น รวมถึงการที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กถ้วนหน้าที่ 25% ยังส่งผลให้เหล็กจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เคยได้รับการยกเว้นอัตราภาษีในช่วงก่อนปี 2025 มีความเสี่ยงที่จะถูกระบายมาไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการใช้เหล็กไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตลดลง จากการทะลักเข้ามาของสินค้าปลายน้ำจากจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ชิ้นส่วนรถยนต์ EV ที่ถูกนำเข้าจากจีนเป็นหลักเกิน 90% จาก FTA ซ้ำเติมให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยอยู่ในระดับต่ำลงกว่าเดิม

อีกทั้งการเข้ามาลงทุนของบริษัทเหล็กจีนในไทยเป็นความเสี่ยงที่ทำให้สินค้าเหล็กจากไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of origin) เนื่องจากการผลิตเหล็กในไทยใช้วัตถุดิบนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่สูงซึ่งอาจนำมาสู่การถูกสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการกีดกันการค้าผ่านกลไกการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าได้

ยางพารา ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากแม้ในปี 2024 ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกยางพาราไปยังตลาดสหรัฐฯ เพียง 9.5% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด แต่ไทยโดนเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ โดยอินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ ซึ่งถูกเก็บภาษีตอบโต้ที่ 32% และ 21% ตามลำดับ

นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้ยางล้อเติบโตชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งจะกดดันราคายางพาราในตลาดโลกและส่งผลเสียต่อรายได้ของอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมยางพารามีการพึ่งพารายได้จากตลาดโลกในระดับสูง สะท้อนได้จากในช่วงปี 2020 – 2024 ที่สัดส่วนปริมาณการส่งออกยางพาราต่อปริมาณผลผลิตยางพาราทั้งหมดของไทย จะอยู่ที่ราว 54.8% - 69.9%

ยิ่งไปกว่านั้น การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนจะกระทบต่ออุตสาหกรรมยางพาราไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากไทย มีการส่งออกยางพาราไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 32% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดในปี 2024 ไม้ยางพารา ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากแม้ในปี 2024 ไทยจะส่งออกไม้ยางพาราไปสหรัฐฯ น้อยมากเพียง 0.004% ของปริมาณการส่งออกไม้ยางพาราทั้งหมด

แต่ไทยจะได้รับผลทางอ้อมในระดับสูงผ่านทางจีน เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกไม้ยางพาราไปตลาดจีนเกือบทั้งหมด โดยในปี 2024 ส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 97% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

ดังนั้น สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไม้ยางพาราด้วย เนื่องจากไม้ยางพาราเป็นสินค้าขั้นกลางที่จีนนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ

โดยในปี 2024 จีนพึ่งพาการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 26% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังส่งผลกระทบต่อความต้องการภายในประเทศเองด้วย

ถุงมือยาง ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากไทยมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยในปี 2024 มีสัดส่วนการส่งออก ไปสหรัฐฯ คิดเป็น 32% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ คู่แข่งสำคัญของไทยอย่างมาเลเซียถูกเก็บภาษีตอบโต้เพียง 24% ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยปรับตัวลดลง ประกอบกับกำลังการผลิตถุงมือยางในมาเลเซียที่มีอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ไทยอาจได้รับผลบวกไม่มาก จากการส่งออกถุงมือยางไปทดแทนสินค้าถุงมือยางจีนในตลาดสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมถุงมือยางอาจบรรเทาลงระยะสั้น จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จนทำให้จีนถูกเก็บภาษีในระดับสูง และไทยกับมาเลเซียถูกเก็บภาษีตอบโต้ในระดับที่เท่ากัน ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกถุงมือยางไปสหรัฐฯ เพื่อทดแทนถุงมือยางจีน

โดยในปี 2024 จีนส่งออกถุงมือยางไปสหรัฐฯ 16,800 ล้านคู่ (ไทยส่งออก 8,300 ล้านคู่ และมาเลเซียส่งออก 23,200 ล้านคู่) ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางได้รับผลกระทบในระดับต่ำหรือได้รับผลกระทบเชิงบวก

แผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบ ได้รับผลกระทบทางตรงในระดับสูง เนื่องจากไทยส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยในปี 2024 มีสัดส่วนอยู่ที่ราว 67% ของการส่งออกทั้งหมด

ทั้งนี้มาตรการ Reciprocal tariff 36% คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงไปอีก ซึ่งจะซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ถึง 77.85-154.68% ตั้งแต่ พ.ย. 2024 ที่ผ่านมาที่ส่งผลให้การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบไปสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2025 ลดลงถึง 50% YOY ดังนั้น หากรวมผลกระทบจาก Reciprocal tariff อีก 36% เข้าไปด้วย

คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบจากไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2025 ลดลงเฉลี่ยราว 45-65% ทั้งนี้แม้ไทยจะมีความได้เปรียบจากที่เวียดนามและกัมพูชาที่เป็นคู่แข่งสำคัญโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าโดยรวมมากกว่าไทย แต่ไทยยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่โดนเก็บภาษีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนประกอบรวมต่ำกว่า

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการแข่งขันจากจีน เวียดนามและกัมพูชาที่อาจมีกลยุทธ์กระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดแผงโซลาร์เซลล์รุนแรงมากขึ้น

สินค้าประมง ได้รับผลกระทบในระดับสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้มีการพึ่งพาอุปสงค์จากตลาดโลกในระดับสูง โดยในปี 2024

ไทยมีการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหรัฐฯ ราว 14% อีกทั้ง ยังมีการส่งออกไปจีนสูงถึงราว 24% ของการส่งออกทั้งหมดอีกด้วย

ดังนั้น ไทยจะถูกกระทบจากมาตรการ Reciprocal tariffs ซึ่งจะบังคับใช้ในอีก 90 วันข้างหน้า ผ่านทั้งช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยตรง รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของอุปสงค์จากจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ร่วมด้วย

ทั้งนี้ “กุ้ง” คือสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มสินค้าประมง โดยมีจีนและสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของไทย สัดส่วนมากถึงราว 36.4% และ 17.2% ของการส่งออกสินค้ากุ้งทั้งหมด ตามลำดับ

ซึ่งหากพิจารณาในแง่ศักยภาพการแข่งขันของสินค้ากุ้งไทยในตลาดส่งออกหลัก ดังกล่าวข้างต้น จะพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งสำคัญที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกกุ้งแปรรูปไปยังสหรัฐฯ และการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังจีน ซึ่งแม้ว่าในตอนนี้ทั้งไทยและคู่แข่งจะโดนเก็บภาษีพื้นฐานที่ 10% เท่ากันหมด แต่ด้วยต้นทุนการผลิตและราคาส่งออกกุ้งของไทยที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

SCB EIC จึงประเมินว่าศักยภาพการแข่งขันด้านราคาของกุ้งไทยในสหรัฐฯ ก็จะยังคงด้อยกว่าคู่แข่งในตลาดไม่ต่างไปจากภาพเดิม ที่ SCB EIC ประเมินไว้ และจะยิ่งเสียเปรียบคู่แข่งหลักอย่างเอกวาดอร์และอินเดีย (โดนเก็บภาษีที่ 10% และ 26% ตามลำดับ) มากยิ่งขึ้นไปอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 ภายใต้สมมติฐานที่หลังจาก 90 วันนี้ ไทยจะโดนเก็บ Reciprocal tariffs ที่อัตรา 36% ตามที่สหรัฐฯ ได้มีการประกาศไปก่อนหน้านี้

ชิ้นส่วนยานยนต์ ได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่ครองส่วนแบ่งสูงถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย 1 อีกทั้ง การขึ้นภาษีนำเข้าแบบเจาะจงในอัตรา 25%(สัดส่วนมูลค่าการส่งออกหมวดชิ้นส่วนยานยนต์และยางล้อ ณ ปี 2024 จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) คาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เผชิญความเสี่ยงสำคัญจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

  1.  การส่งออกไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว อันเกิดจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเม็กซิโก ซึ่งมีศักยภาพการแข่งขันในอุตฯ ชิ้นส่วนยานยนต์ใกล้เคียงกับไทย 2 อีกทั้ง ยังมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการค้า เพราะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ  โดยกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ล้อรถ และระบบเกียร์
  2. คำสั่งซื้อชิ้นส่วนจากประเทศผู้ผลิตรถยนต์หลัก มีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยเพื่อนำไปประกอบยานยนต์และส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน เช่น ผู้ผลิตคลัตช์ เบรก เข็มขัดนิรภัย และถุงลมนิรภัย มีความเสี่ยงจากผลกระทบทางอ้อม
  3. ทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนคาดว่าจะชะลอตัวเนื่องจากนักลงทุนอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่ม USMCA (เช่น เม็กซิโก) ซึ่งยังได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ

 

ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับปานกลาง

 

เม็ดพลาสติก ได้รับผลกระทบทางตรงในระดับต่ำ เนื่องจากไทยมีสัดส่วนในการส่งออกเม็ดพลาสติก ไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่น้อยกว่า 1% ของมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม จะได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านทางจีน เนื่องจากไทยมีสัดส่วนในการส่งออกเม็ดพลาสติกไปยังจีนราว 30% ของมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกไทยไปยังตลาดโลก เพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีน จึงส่งผลกระทบทางอ้อมต่อ Supply chain จากจีนที่มีแนวโน้มส่งออกได้น้อยลง และผลกระทบด้านราคาที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากผลของสงครามการค้า

น้ำตาลและมันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง เนื่องจากแม้ในปี 2024 ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลังไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่มากอยู่ที่เพียง 0.4% และ 2.4% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดตามลำดับ

แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลและความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของโลกให้เติบโตชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาในตลาดโลก และส่งผลเสียต่อรายได้ของอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยพึ่งพารายได้จากตลาดโลกค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากในช่วงปี 2020 – 2024 สัดส่วนการส่งออกน้ำตาลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ที่ราว 46.8% –66.6%

ขณะที่สัดส่วนการส่งออกมันสำปะหลังต่อปริมาณการผลิตของไทยอยู่ที่ราว 69 – 74% โดยจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย มีสัดส่วนการส่งออกไปจีน คิดเป็น 63.8% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าจีนทะลัก เนื่องจากจีนมีผลผลิตน้ำตาลและผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ

น้ำมันปาล์ม ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง เนื่องจากแม้ในปี 2024 ไทยจะไม่ได้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปตลาดสหรัฐฯ แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มโลกเติบโตชะลอลงตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาปาล์มน้ำมันในตลาดโลกและส่งผลเสียต่อรายได้ของอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มในไทยมีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก

นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้นจะกดดันราคาถั่วเหลืองในตลาดโลก เพราะในปี 2024 จีนมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ กว่า 22 ล้านตัน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราคาถั่วเหลืองจะส่งผลต่อเนื่องมายังราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกด้วย เนื่องจากสินค้าทั้งสองสามารถใช้ทดแทนกันได้

อย่างไรก็ดี ผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอาจบรรเทาลงในระยะสั้น จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้น จนทำให้จีนหันมานำเข้าน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันถั่วเหลืองในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก

อาหารสัตว์เลี้ยง ได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากแม้ในปี 2024 ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 17.9% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดและคู่แข่งสำคัญอย่างแคนาดาจะถูกเก็บภาษีในระดับต่ำกว่าไทย แต่การหาสินค้าเพื่อทดแทนอาหารสัตว์เลี้ยงทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเน้นกลุ่มพรีเมียม

อย่างไรก็ดี ผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงอาจบรรเทาลงในระยะสั้น จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้น จนทำให้ผู้นำเข้าในจีนหันมานำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทย ไปทดแทนอาหารสัตว์เลี้ยงที่นำเข้าจากสหรัฐฯ

โดยในปี 2024 จีนนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 1 ที่ 343 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับ 3 ที่ 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ หากทรัมป์มีการเปลี่ยนแปลงภาษีจนทำให้ภาษีที่ไทยถูกเก็บอยู่ในระดับเดียวกับแคนาดา ก็จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบในระดับต่ำหรืออาจจะได้รับผลเชิ TAGS: #SCB #EIC #SCBEIC #ส่งออก #เศรษฐกิจโลก #ภาษีทรัมป์ #จีน #สหรัฐอเมริกา