ดีลอยท์ ฉายแนวโน้มอุตฯ เซมิคอนดักเตอร์ ในปีนี้ ตลาดสหรัฐฯ และเอเชีย จะโต 2 หลักจากปีก่อน โดยยอดขายชิปจะแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ใน 5 ปีหน้า
อิง ฮาว แทน Assurance Leader และ ทัศดา แสงมานะเจริญ เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาอาวุโส แผนก Growth ดีลอยท์ ประเทศไทย หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Big4) เปิดเผยบทวิเคราะห์แนวโน้มปี 2568 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะมียอดขายเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยหลักมาจากชิป Generative AI (GenAI)
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2567 World Semiconductor Trade Statistics ได้รายงานว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีการเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 19 โดยมียอดขายมูลค่า 627 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2568 จะมียอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 697 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยภูมิภาคอเมริกาและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะเติบโตถึง 2 หลักเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 15 และร้อยละ 10 ตามลำดับ
นอกจากนี้ รายงาน 2025 Global Semiconductor Industry Outlook ของดีลอยท์ คาดการณ์ว่ายอดขายชิปอาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ร้อยละ 7.5 ระหว่างปี 2568 ถึงปี 2573
จากข้อมูลเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2567 มูลค่าตามราคาตลาดรวมของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ 10 อันดับแรกของโลกสูงถึง 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 93 จาก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ปี 2566
ชิปถูกนำไปใช้ในหลากหลายด้าน อาทิ
- เอ็นเตอร์ไพรส์เอดจ์ (Enterprise Edge)
- คอมพิวเตอร์
- สมาร์ทโฟน
- แอปพลิเคชัน
- อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT)
โดยชิปเหล่านี้มักจะถูกใช้สำหรับ GenAI หรือ AI แบบดั้งเดิม (Machine Learning) หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันยอดขายของอุตสาหกรรมคือความต้องการชิป GenAI และการเติบโตของอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ (Data centre) ซึ่งหมายรวมถึง หน่วยประมวลผลกลาง (Central processing units: CPUs) หน่วยประมวลผลกราฟิกส์ (Graphics processing units: GPUs) ชิปสื่อสารสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ และชิปพลังงาน เป็นต้น
แม้ว่าความต้องการจากตลาดพีซีและมือถือเริ่มซบเซาลง ซึ่ง International Data Corporation (IDC) คาดการณ์ว่า ในปี 2568 ยอดขายสมาร์ทโฟนอาจเติบโตเพียงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอาจเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ตัวชี้วัดในอนาคต ในปี 2568 ผู้บริหารในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ควรให้ความสำคัญในด้านต่อไปนี้
- ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการลงทุนจำนวนมากในเซมิคอนดักเตอร์สำหรับ GenAI และความสามารถของบริษัทต่าง ๆ ในการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ GenAI อย่างมีประสิทธิภาพ หลายธุรกิจยังคงยึดมั่นกับความเชื่อเมื่อปี 2568 ที่ว่า
“ความเสี่ยงจากการลงทุนที่ไม่เพียงพอมีมากกว่าความเสี่ยงจากการลงทุนที่มากเกินไป”
อย่างไรก็ตาม ความต้องการชิป GenAI อาจลดลงมากกว่าที่คาดไว้ หากมุมมองนี้เปลี่ยนแปลงไป
- การแข่งขันจากกลุ่มสตาร์ทอัพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้เล่นที่มีอยู่ก่อนแล้วในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในทั้ง 3 ไตรมาสหลังของปี 2567 สตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับชิป ได้รับเงินลงทุนจากเวนเจอร์แคปปิตอลประมาณ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนของชิป AI สูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งมีสตาร์ทอัพจำนวนมากที่สามารถเสนอโซลูชันเฉพาะทาง
รวมถึงแอปพลิเคชันบนพื้นฐาน RISC-V ที่ปรับแต่งได้ ชิปเล็ต โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) วงจรรวมโฟโตนิก (ICs) และบริการออกแบบชิป
- การคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และตลาดสำคัญอื่นๆ จะทยอยลดลง รวมถึงสภาพแวดล้อมด้านสินเชื่อที่เอื้ออำนวยอาจช่วยสนับสนุนการควบรวมกิจการและการซื้อกิจการ (M&A) ในอุตสาหกรรมชิปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริษัทที่มีทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่าแต่เริ่มตามหลังคู่แข่ง จะกลายเป็นเป้าหมายการเข้าซื้อกิจการ
อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและความขัดแย้งทางการค้าโลกอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำข้อตกลงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงดำเนินต่อไปทั่วโลก
บริษัทเซมิคอนดักเตอร์จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยความร่วมมือและพันธมิตรแบบดั้งเดิมอาจต้องปรับตัว ถึงแม้ว่าแนวโน้มต่าง ๆ อาทิ การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศและการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศใกล้เคียงจะ ได้รับความนิยมมากขึ้น
ทั้งนี้ สหรัฐฯ กำลังพยายามนำการผลิตและการดำเนินงานห่วงโซ่อุปทานของบริษัทสหรัฐอเมริกาในต่างประเทศให้กลับมาในประเทศ
นอกจากนี้ การควบคุมการส่งออกแร่ธาตุที่จำเป็นของประเทศจีนยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิป เนื่องจากทังสเตนและเทลลูเรียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคอาจส่งผลเสียต่อการจัดหาวัสดุและสินค้าคงคลังที่จำเป็น ส่งผลให้การวางแผนความต้องการของเซมิคอนดักเตอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นจะต้องมีความคล่องตัวมากขึ้นเพื่อปรับกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานและข้อตกลงด้านราคา
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้แบ่งการค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า (Integrated circuit: IC)
- กลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด (Diodes-Transistors Semiconductor: O-S-D)
อีกทั้ง สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่า อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นหลังผ่านภาวะขาดแคลนชิปจาก สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 โดยการนำเข้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 6.8 แสนล้านบาทในปี 2566 เป็น 8.7 แสนล้านบาทในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ การนำเข้าในปี 2567 มาจากไต้หวันมากที่สุดที่ 3.8 แสนล้านบาท ตามด้วยจีนที่ 9 หมื่นล้านบาท และเกาหลีใต้ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งในอดีตเคยเป็น 3 อันดับแรก ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 4 ที่มูลค่าราว 7.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การนำเข้าทั้งหมดในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 คิดเป็นมูลค่าราว 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับกลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด (O-S-D) การนำเข้าลดลงจากประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในปี 2566 เหลือประมาณ 1.1 แสนล้านบาทในปี 2567 หรือลดลงร้อยละ 13 ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะนำเข้า O-S-D จากประเทศจีนมากที่สุดในปี 2567
แต่มูลค่าการนำเข้ากลับลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยลดลงร้อยละ 34 เหลือราว 4.2 หมื่นล้านบาท ตามด้วยประเทศญี่ปุ่นที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และสหรัฐฯ ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ การนำเข้าทั้งหมดใน 2 เดือนแรกของปี 2568 นั้น มีมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประเทศไทยกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นที่สำคัญมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก
โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประกาศให้สิทธิพิเศษการลงทุนมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทกับบริษัทในเครือจากไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญา หรือ contract electronics รายใหญ่ที่สุดในโลกในการจัดตั้งโรงงานผลิตสำหรับการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำสูง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
รวมทั้งยังส่งเสริมบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ Power Electronics อันดับหนึ่งของโลกในการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งที่ 3 ของโลกในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและศูนย์ข้อมูลและธุรกิจที่ใช้เครื่องมือจัดการพลังงานสะอาด โดยมีกำหนดเริ่มดำเนินการในปี 2569
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ)
ยังได้เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงรวมถึงรับทราบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาบุคลากร และเพื่อเตรียมพร้อมรับคลื่นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใหม่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2572 อีกด้วย
ขณะที่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ และการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานในอนาคต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ประเทศไทยพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ
รวมทั้งเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของโลก