พีท-กันตพร หาญพาณิชย์ ผู้บริหารสายอินฟลูฯ แผน5 ปี 'รพ.เกษมราษฎร์' 20 แห่ง-แตกธุรกิจค้าปลีก

พีท-กันตพร หาญพาณิชย์ ผู้บริหารสายอินฟลูฯ แผน5 ปี 'รพ.เกษมราษฎร์' 20 แห่ง-แตกธุรกิจค้าปลีก
เปิดฟลอร์คุยกับ ‘พีท-กันตพร’ ผู้บริหารรุ่นใหม่สายอินฟูลฯ ‘BCH’ กับแนวคิดโซเชียล มาร์​เก็ตติ้งธุรกิจโรงพยาบาลในเฟสที่ 3 และผู้ที่เชื่อว่า ‘Work Life Balance’ ไม่มีอยู่จริง

'พีท-กันตพร หาญพาณิชย์'ในวันนี้ที่สวมบทบาท ทั้งทายาทหมื่นล้านบาทอาณาจักรเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ในฐานะผู้บริหารบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)  (BCH)  

พร้อมปรับสถานะจาก ‘คุณแฟน’ สายอบอุ่นประดุจไมโครเวฟสู่การเป็น ‘คุณสามี’ แก้มบุ๋ม-ปรียาดา อดีตนักแสดงสาวชื่อดังที่ผันตัวสู่การทำธุรกิจออนไลน์ร่วมกันใน บริษัทแก้มพีท โปรดักชั่น จำกัด ทำให้ ‘เขา’ ควบตำแหน่งอินฟลูเอ็นเซอร์ ไปโดยปริยาย ที่ยังไม่นับรวมการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นธุรกิจไม่ต่ำกว่าอีก 14 บริษัทในปัจจุบัน

 

 

โรงพยาบาล คือ เพลย์กราวด์

 

พีท เปิดชั้น 24 ที่ตั้งสำนักงาน BCH บนอาคารโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ ให้ทีม THE BETTER มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษในช่วงเย็น หลังจบเวลางานประจำของวันในฐานะ กรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด (Board of Director & Executive Management) 'BCH' ได้มาเล่าถึงแนวคิด แผนธุรกิจ การทำงานที่เกือบจะเป็น ‘24X7’ ในแต่ละวัน ไปพร้อมกับการใช้ชีวิตคู่ให้ลงตัวจนเราถึงกับต้องโพล่งถาม ‘เอาวลาที่ไหนนอน?!?’

ก่อนจะไปถึงบทบาทของ ‘พีท’ ในเวอร์ชั่นอัปเดทที่น่าสนใจ เขาย้อนเรื่องราวของตัวเองก่อนมาสู่เส้นทางผู้บริหาร ด้วยในวัยเด็กเติบโตในช่วงจังหวะเดียวกับที่คุณพ่อ (นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์) เปิดให้บริการโรงพบายาลเกษมราษฎร์ บนทำเลรัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นสาขาต้นแบบแห่งแรก ทำให้ชีวิตวัยเยาว์ของเขามีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ในโรงพยาบาล เป็นอย่างดี

พีท บอกว่า ตอนเด็กๆ ตั้งแต่อายุ 4-5 ปี อาจเรียกได้ว่ามีโรงพยาบาลเป็น ‘เพลย์ กราวด์’ ด้วยต้องมารอคุณพ่อทำเคสต่างๆ ในโรงพยาบาลเกือบทุกวันหลังเลิกเรียน และจากความคุ้นเคยเหล่านี้ ที่ทำให้ถูกซึมซับไปโดยปริยายถึงเส้นทางการทำงานของตัวเองว่า จะต้องเข้ามารับช่วงการบริหารงานโรงพยาบาลตามที่ ‘พ่อ’ ปูทางไว้ให้ลูกๆ แต่ละคนเข้ามาทำหน้าที่ในแต่ละสายงานที่วางไว้

เข้าสู่เฟส 3 ของการทำงาน

 

พีท บอกว่าจากเส้นทางชีวิตที่ขีดชัดทำให้ เขาเลือก ‘โฟกัส’ สายบริหารและการตลาด เพื่อเข้ามารับผิดชอบงานด้านนี้โดยเฉพาะ และแน่นอนว่า การเริ่มต้นทำงานแรกของพีท คือ ฝึกงานที่โรงพยาบาลเกษรมราษฎร์ รันาธิเบศร์ ที่เจ้าตัวบอกว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงในปัจจุบันได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 เฟสแล้ว

อย่างในช่วงเฟสแรก หลังจบ MBA จากมหาวิทยาลัยมหิดล 'พีท' ได้เข้ามาเรียนรู้ระบบต่างๆในเครือโรงพยาบาล อย่างวัฒนธรรมองค์กรในภาพรวมก่อนว่าเป็นอย่างไร? ก่อนเข้าสู่ช่วงเฟสสอง ในวัยอายุใกล้ 30 ปี พร้อมความรับผิดชอบดูแลงานในส่วนกลางมากขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ กิจการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ขยายสาขาเพิ่มจาก 3 แห่งเป็น 10 แห่งพร้อมกับเปิดให้บริการ โรงพยาบาลโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ

“ในตอนนั้นเวิลด์ เมดิคอลเปิดมาแล้ว 3 ปี แต่คนยังไม่รู้จักมากนัก ซึ่งเราต้องมาทำงานต่อ มีการวางโพสิชั่นนิ่งของโรงพยาบาลที่ชัดเจนให้บริการเฉพาะทางด้านใด ซึ่งถึงในตอนนี้ถึงจุดเกินคุ้มทุนมาแล้ว จากโดยเฉลี่ยการทำโรงพยาลจะมีไซเคิล เบรก อีเวนต์ ราว 8 ปี” พร้อมเสริมว่า

สำหรับ โปรเจกต์ที่ทำให้เวิลด์ เมดิคอล เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง และ สร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ได้สูงสุด  คือ การร่วมงานกับ ‘น้องธันย์’ เด็กสาวที่ประสบอุบัติเหตุตกชานชาลารถไฟฟ้าที่สิงคโปร์จนถูกตัดขา และได้รับคัดเลือกให้ทำงานตำแหน่ง ‘ผู้สำรวจความสุขคนไข้’ ของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ตั้งแต่ปี 2560   

ขณะที่ ปัจจุบัน โรงพยาบาลเวิลด์ เมดิคอล มีคนไข้เข้ามาใช้บริการ แบ่งสัดส่วนเป็นชาวต่างชาติ 50% และผู้ใช้ในประเทศสัดส่วน 50% ในกลุ่ม (Segment) ระดับกลางถึงบน จากก่อนหน้าโฟกัสต่างชาติและคนท้องถิ่น 80% และ 20% ตามลำดับ

พีท ขยายภาพต่อว่า หลังจากเฟสสองผ่านมา 5 ปี เป็นช่วงการทำงานของเขาสู่เฟสที่สาม ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกับการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ 'COVID' ที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปี 2563-2565  เรียกว่าเป็นอีกความท้าทายของธุรกิจโรงพยบาล ครั้งใหญ่ 

ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เครือ BCH เลือกหลักการให้บริการทางการแพทย์ด้วยการ 'ไม่ปฏิเสธคนไข้'  ทำให้ในเวลานั้น 'เกษรมราษฎร์' กลายเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยโควิด มากที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และยังดำเนินการในด้านอื่นๆ ควบคู่กันทั้งโรงพยาบาลสนาม และ ฮอสพิเทล (Hospitel) เป็นรายแรกๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตรโรงแรม ต่างๆ เพื่อรองรับคนไข้ในช่วงเวลานั้น   

โดยช่วงแพร่ระบาดฯ  เครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รองรับผู้ป่วยโควิดสูงสุดถึง 25,000 เคส และให้บริการฮอสพิเทล ร่วม 10,000 ราย

ขณะที่ ปัจจุบันกลุ่ม BCH มีเครือข่ายให้บริการโรงพยบาลทั้งในประเทศ และใน สปป.ลาว ทั้งหมด 15 แห่ง รวมมากกว่า 2,000 เตียง และยังเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีผู้ใช้สิทธิประกันสังคมมากที่สุด ราว 7% ในระบบที่มีอยู่ราว 1 ล้านคน  

พร้อมเสริมต่อว่า การทำงานในเฟสที่3 ของเขายังมองไปถึงการขยายบริการทางการแพทย์ด้านใหม่ๆ เพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมาใช้งบลงทุนไปกว่า 600 ล้านบาท เปิดศูนย์รักษาโรคมะเร็งครบวงจร "คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมรังสีรักษา เกษมราษฎร์อารี" เพื่อเติมความครบวงจรการให้บริการทางการแพทย์ให้กับลูกค้า และความคล่องตัวในการให้การรักษาของเครือโรงพยาบาลฯ ที่ยังผลักดันให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลงราว 30 ล้านบาทต่อปี อีกด้วย

นอกจากนี้ BCH ยังไปต่องานบริการโมบายล์ คลินิก ในรูปแบบบริการรถทันตกรรมโรงพยาบาลเกษมราษฎร์เคลื่อนที่ ที่ปัจจุบันมีหน่วยให้บริการฯ จำนวน 8 คัน ที่รองรับผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคม เช่นกัน

รวมถึงความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล กับพันธมิตร ‘พูจอง คลินิก’ เปิดศูนย์ศัลยกรรมความงาม  เพื่อรองรับเทรนด์ความงามที่ขยายตัวสูงในไทย โดยในปี 2566-267 ที่ผ่านมา ศูนย์ Kasemrad Plastic Surgery เติบโตถึง 150% ด้วยผลดำเนินการกว่า 200 ล้านบาท ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 แห่ง สาขา โรงพยาบาลเกษมราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศน์ และ รามคำแหง

แผน 5 ปี ‘เกษมราษฎร์’ 20 แห่ง

 

พีท กล่าวถึงแผนงานกลุ่ม BCH ซึ่งจะเป็นแผนระยะกลางถึงระยะยาวต่อเนื่อง จากปี 2567-2572 จะขยายบริการสาขาเครือโรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 20 แห่ง ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมีราว 17 แห่ง รวมในสปป.ลาว โดยเตรียมเปิดให้บริการสาขา สุวรรณภูมิ และ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และ จังหวัดระยอง ใน1-2 ปีหน้า

“รพ.เกษมราษฎร์ ยังมองการขยายให้บริการสาขาในภาคอีสานด้วย” พีท กล่าวพร้อมเสริมว่า “จากจำนวนสาขาที่มากขึ้น ยังจะทำให้กลุ่ม BCH สามารถใช้กลยุทธ์การการตลาดผ่าน อีโคโนมี่ ออฟ สเกล จากการสร้างพื้นที่ส่วนกลางโดยนำดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกด้วย”

 

เข้าตลาดค้าปลีก ‘ซัพพลีเมนต์’

 

พีท ขยายต่อว่า สำหรับการทำตลาดแบบส่วนกลางด้วยการใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์​ Social Media แพลตฟอร์มยอมนิยมต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละเจนเนอเรชั่น ที่แตกต่างกันออกไป พร้อมสร้างทีม ‘ดิจิทัล มาร์ฌก็ตติ้ง’ มารองรับโดยใช้จุดเด่นส่วนหนี่งที่มาจากประสบการณ์การเป็นอินฟลูฯ มาปรับใช้ในการทำการตลาด ด้วย  

ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอนาคตที่ กลุ่ม BCH จะเข้ามาเล่นในตลาด 'ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร' ที่ปัจจุบันมีมูลมากกว่า 80,000 ล้านบาท โดยมี 4 กลุ่มสินค้า วิตามินรวม, ผิวพรรณ, โปรตีน และ ไฟเบอร์ โพรไบโอติก ที่มีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นกลุ่มสินค้า ที่ 'พีท' เตรียมหยิบมาทำตลาดค้าปลีก ด้วย

“หลังจากกลุ่ม BCH เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจ SNPS ในช่วงก่อนหน้า ด้วยเห็นโอกาสขยายตลาดสินค้าซัพพลีเมนต์ และในกลุ่มสินค้าสมุนไพรไทย ซึ่งมีแผนจะเปิดตัวสินค้าใหม่ในเร็วๆนี้” พีท ขยายภาพให้เห็นความชัดเจน  

 

ผู้บริหารสายอินฟลูฯ

 

พีท เสริมว่า ปัจจุบันการตลาดผ่าน โซเชียล คอมเมิร์ซ การค้าขายในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ อย่างการ ‘ไลฟ์’ เป็นหนึ่งในกระแสที่ได้รับความสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูง และนำไปสู่การปิดการขายได้รวดเร็ว ด้วยตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่หันมาใช้เวลาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็นทั้งผู้ทำคอนเทนต์เองและลูกค้าในเวลาเดียวกัน ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่การแนะนำสินค้าต่างๆในออนไลน์ จะเป็นการรีวิว เพื่อให้ข้อมูลด้านต่างๆ หรือเล่าผลลัพธ์ของสินค้า เป็นหลัก

“อินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นเทรนด์การตลาดออนไลน์ที่เติบโตสูงในตอนนี้ จากเดิมในช่วง 2 ปีก่อนหน้าเป็นกระแสของยูทูบเบอร์” พีท เสริม

พร้อมเล่าอีกว่า จากเทรนด์ดังกล่าว เขา ยังจะนำประสบการณ์การทำงานในด้านโซเชียล มีเดีย ร่วมกับ ภรรยา ในฐานะเมกา อินฟลูฯ ที่ปัจจุบันมีค่าตัวระดับ 5 หลักขึ้นไป เพื่อนำมาปรับใช้ร่วมกับการทำตลาดสินค้าใหม่ในกลุ่มค้าปลีกของ BCH ด้วย

นอกจากนี้ แผนงานดังกล่าว จะยังเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่เพื่อให้บริการทางการแพทย์ของ BCH ในอนาคตแข็งแรงขึ้นไปอีก เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาใกล้ชิดผู้คนมากขึ้น ด้วย 'ผู้ป้วย' อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง แต่ต้องการใช้ 'บริการ' ด้านต่างๆ แบบครบวงจร ทั้งการให้คำปรึกษา การจัดหายาเวชภัณฑ์ หรือ อื่นๆ ซึ่งการที่ BCH ทำงานด้วยความครอบคลุมทุกด้าน พร้อมสร้างการจดจำแบรนด์ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ผ่านแพลตฟอร์ใหม่ๆ คาดจะส่งผลบวกต่อไปในอนาคต

 

Work Life Balance และได้นอนกี่โมง?

 

หลังจบพาร์ทพูดคุยภารกิจงานประจำของกลุ่ม BCH พีท เล่าต่อ ถึงชีวิตหลังเลิกงาน ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของแต่ละวัน ให้ฟังว่าจะเป็นช่วงเวลาส่วนตัวที่ได้อยู่กับภรรยา เพื่อทำงานของบริษัทแก้มพีท อย่าง 'การไลฟ์' สินค้าที่มีเข้ามาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20 วันต่อเดือน และได้ทำเช่นนี้ต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดบริษัทฯ 

“เวลาเข้านอนแต่ละวันจะราวๆ ตีหนึ่ง ครับ”  พีท บอกพร้อมเสริมอีกว่า “เวิร์ค ไลฟ์ บาลานซ์ ในส่วนตัวแล้วมองว่า ไม่มีอยู่จริงนะ เพราะทุกวันหากเราทำงานทุกอย่างไปด้วยความตั้งใจ มีแพสชั่นให้กับทั้งงานประจำและงานของตัวเอง และรู้ว่าแต่ละวันจะต้องทำอะไรแล้ว สิ่งนั้นจะตอบคืนกลับมาในรูปแบบของความสุขเอง จากความชอบในสิ่งที่เราได้ทำ” พีท ขยายแนวคิดและเสริมอีกว่า

“เชื่อว่าแต่ละวันของแต่ละคนอาจมีเวลาว่างไม่เท่ากัน อย่างของผมจัดการเอาเวลาที่มีอยู่หลังเลิกงาน หรือ วันหยุดเสาร์อาทิตย์มาใช้ให้เกิดโปรดักทิวิตี้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งมันก็เป็นประโยชน์กับตัวเราทั้งในแง่จิตใจและผลตอบแทนรายได้ที่เข้ามาด้วย” แต่ขณะเดียวกัน 'การดูแลสุขภาพ' ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ พีท ให้ความสำคัญด้วยจะใช้เวลาออกกำลังกายในกิจกรรมวิ่ง เป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่นกัน

พีท เล่าต่อ ถึงชีวิตหลังการแต่งงานซึ่งจะครบรอบหนึ่งปีในเดือนพฤษภาคม นี้ว่า “หลังแต่งงานผมกับน้องแก้มบุ๋ม ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อตอนเป็นแฟนมากนัก แต่เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตคู่ที่เติบโตขึ้นมาอีกเลเวลเป็นการให้ความมั่นใจซึ่งกันและกันมากขึ้น อย่างการที่เรามีกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการได้ทำงานด้วยกันซึ่งเป็นงานที่สนุก จากเมื่อก่อนแต่งงานกิจกรรมส่วนตัวของผมมักจะใช้เวลาว่างๆ ไปกับการวิ่งออกกำลังกายและดูหนังซึ่งแนวที่ชอบจะเป็นพวกซูเปอร์ฮีโร่”

พร้อมทิ้งท้ายถึง FC แก้มพีท อีกว่า “ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ หลายคนอาจมีความยากลำบากแต่อยากให้มองถึงการใช้เวลาว่างของเราที่มีอยู่ มาสร้างแวลูต่างๆ และหารายได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพราะโลกตอนนี้เปลี่ยนไปมาก การมีรายได้ประจำจากแหล่งเดียวอาจไม่พอแล้ว หากกังวลหรือไม่มั่นใจว่าจะไลฟ์ หรือพูดไม่เป็นว่าจะขายอะไร แค่ลองเปิดใจทำดูก่อน ก็จะสามารถไปต่อได้เอง” พีทยังไม่จบพร้อมขยายถึงตัวเองให้ฟังอีกว่า

“อย่างในช่วงแรกๆ น้องแก้มบุ๋มเปิดไลฟ์มา ผมเดินหนีกล้องเลยนะ แต่ตอนนี้ตัวผมเองกลายเป็นคนละเรื่องไปจากตอนนั้นแล้ว” พีท ทิ้งทายการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ด้วยแนวคิดผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ให้พลังบวกขั้นสุด เสมือน 'เลเวล อัป' จากเวอร์ชั่น ’พี่พีทททททท’ ผู้บริหารสายไมโครเวฟ ไปแล้ว

ภาพ-จิระศักดิ์ จิวะวัฒนาวนิช 

TAGS: #พีทกันตพร #กันตพรหาญพาณิชย์ #เกษมราษฎร์